|
|
บักกี้บอล ทรานซิสเตอร์ตัวแรก ที่จะทำขึ้นจาก โมเลกุลของคาร์บอน - 60 ที่เราเรียกว่า บักกี้บอล กำลังจะถูกสร้างขึ้นในห้องปฏิบัติการทดลองของเบิร์กเลย์ (Bekeley Lab) ภายในห้องที่มีอุปกรณ์ยุ่งเหยิง อลหม่าน ทีมงานวิจัย กำลังทดลองแหย่โมเลกุลเดี่ยวของบักกี้บอล เข้าไปในช่องว่างของขั้วไฟฟ้าที่ทำจากทองคำ ช่องว่างนี้แคบมาก มีความกว้างเพียงแค่ 1 ใน 1000 ล้านของเมตร พวกเขาทำเช่นนี้ ก็เพื่อทดลองคุณสมบัติทางไฟฟ้าของบักกี้บอล นักฟิสิกส์ท่านหนึ่งที่เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัย ได้กล่าวไว้ว่า " ปัญหาใหญ่ที่ยังแก้กันไม่ได้ของวงจรอิเล็กทรอนิกส์ในปัจจุบัน คือเราไม่สามารถบรรจุวงจรทางอิเล็กทรอนิกส์ เข้าไปในแผ่นซิลิคอนได้มากพอ เราจะต้องทำอย่างไรก็ได้ที่จะลดขนาดของวงจรไฟฟ้าลงให้มากที่สุด โดยไม่ไปขัดขวางการไหลของอิเล็กตรอน ขนาดวงจรที่เล็กที่สุดเท่าที่สามารถทำได้ ก็คือวงจรไฟฟ้าขนาด 1 โมเลกุล" การทำให้โมเลกุลเดี่ยว ตอบสนองต่อการเคลื่อนที่ของอิเล็กตรอน เป็นงานที่ยุ่งยากมาก ความสำเร็จนี้มีความสำคัญยิ่ง ทางด้านคอมพิวเตอร์ เพราะยิ่งคุณลดขนาดวงจรไฟฟ้าได้ลงมากเท่าไร คุณก็ยิ่งจะสามารถบรรจุวงจรไฟฟ้าลงบนแผ่นซิลิคอนได้มากเท่านั้น คอมพิวเตอร์จะมีความฉลาดมากขึ้น ซึ่งในตอนนี้ อุปกรณ์ทางอิเล็กทรอนิกส์ที่เราสามารถทำให้เล็กที่สุดได้ เพียงแค่ระดับนาโนเมตร หรือ 0.000 000 001 เมตร เมื่อทำให้เล็กลงมากกว่านี้ จะติดปัญหาการเคลื่อนที่ของอิเล็กตรอนภายในผลึกของซิลิคอน จึงทำให้ความก้าวหน้าทางนี้ค้างเติ่งมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว คาร์บอน - 60 มีลักษณะคล้ายลูกบอลมาก นักวิทยาศาสตร์จึงเรียกมันว่า ลูกบอลบักกี้
| |||||||||||||||||||||||