โรงไฟฟ้านิวเคลียร์กับประชาสังคม
ปัจจุบันประชาชนได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจเริ่มโครงการต่างๆ ของรัฐบาลสำหรับในกรณีของโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ก็เช่นเดียวกัน ในประเทศที่ประสบความสำเร็จในโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ได้มีการจัดให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการพิจารณาการดำเนินโครงการตั้งแต่เริ่มโครงการก่อสร้าง การเดินเครื่อง และการรื้อถอนหลังจากเลิกใช้งาน นอกจากนี้ ด้านความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบการดำเนินโครงการได้ จะทำให้โครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง และเป็นที่ยอมรับของสังคม การเสริมสร้างความรู้และความเข้าใจ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เนื่องจากทั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์และระเบิดปรมาณู ใช้ปฏิกิริยาฟิชชั่นเป็นต้นกำเนิดพลังงานความร้อนเช่นเดียวกัน ดังนั้น การให้ความรู้และความเข้าใจกับประชาชนย่อมเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นประการแรก การที่จะให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในโครงการ ประเทศต่างๆ โดยเฉพาะแถบยุโรป ได้กำหนดให้หน่วยงานกำกับดูแลความปลอดภัยมีหน้าที่รับผิดชอบด้านการให้ข้อมูลด้านความปลอดภัยแก่ประชาชน เพื่อให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นในการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และเพื่อเพิ่มความเชื่อถือ และทำให้มีความมั่นใจในโครงสร้างที่มีประสิทธิภาพของรัฐในงานกำกับดูแลความปลอดภัยด้วย
การควบคุมความปลอดภัยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ หน่วยงานเดินเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์มีหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินงานให้เป็นไปอย่างปลอดภัย และหน่วยงานกำกับดูแลความปลอดภัย มีหน้าที่รับผิดชอบในการกำกับดูแล และให้ข้อมูลกับสาธารณชนในแง่ของบทบาทในการเสริมสร้างความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ให้แก่สาธารณชน ซึ่งการสร้างความเชื่อมั่นดังกล่าวต่อประชาชนต้องประกอบด้วยการให้ข้อมูลข่าวสารที่รวดเร็วทันต่อเหตุการณ์และถูกต้องในทุกๆด้าน นอกจากนี้ ในกรณีที่มีประเด็นปัญหาควรมีการจัดการอภิปราย เพื่อให้ทุกฝ่ายมีการปรึกษาหารือร่วมกัน เพื่อนำไปสู่ข้อยุติ และข้อปฏิบัติในอนาคตต่อไปได้ อีกประการหนึ่งการจัดการดำเนินงานต้องประกอบด้วยการบริหารจัดการที่ดี และการตัดสินใจด้านความปลอดภัยที่มีประสิทธิภาพ ของหน่วยงานของรัฐเป็นสิ่งที่จำเป็น ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อหน่วยงานกำกับดูแลความปลอดภัย การป้องกันอันตรายจากรังสี ในการเดินเครื่องใช้งานโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แผนการป้องกันอันตรายจากรังสี เป็นประเด็นสำคัญ และมีผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้เพื่อให้แผนการดำเนินการดังกล่าวมีประสิทธิภาพ และบรรลุเป้าหมาย ในการดำเนินการควรจะให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในการจัดทำแผนการดังกล่าว ตลอดจนต้องมีการกำหนดขั้นตอนการดำเนินงานอย่างละเอียดรอบคอบ โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบจะต้องให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน ซึ่งจะทำให้แผนการป้องกันอันตรายจากรังสีที่จัดทำขึ้นได้รับความร่วมมือจากทุกๆ ฝ่ายและประสบผลสำเร็จ การจัดการเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้ว การจัดการเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้ว เป็นอีกประเด็นที่เป็นที่สนใจของประชาชน ทั้งนี้กากเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้วที่มีปริมาณรังสีสูงจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ สามารถที่จะเก็บไว้ในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้ตลอดอายุการใช้งานของโรงไฟฟ้า และมีหลายแนวทางที่จะจัดการใช้งานของโรงไฟฟ้า และ มีหลายแนวทางที่จะจัดการเก็บอย่างถาวรต่อไป เพื่อมิให้มีอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้น ในประเด็นของการจัดการกากรังสีสูง ยังคงมารถชะลอการตัดสินใจในรายละเอียดของแนวทางการจัดการกากไว้ก่อนได้ อย่างไรก็ตาม การใช้ประชาชนมีส่วนร่วมเกี่ยวกับแนวทางดำเนินการยังคงมีความสำคัญเช่นเดียวกันโดยคำนึงถึงความปลอดภัยของส่วนรวมเป็นสำคัญทั้งในปัจจุบันและอนาคตตลอดไป