ภาพพุทธประวัติจากหินสลัก
ยุคก่อนมีพระพุทธรูปในประเทศอินเดีย พ.ศ. ๓๐๐๗๐๐
ถ่ายจากภาพปั้นที่จำลองขึ้นใหม่ เพื่อกิจการแห่งโรงมหรสพทางวิญญาณ
ณ สวนโมกขพลาราม อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี

พุทธทาสภิกขุ รวบรวมและอธิบาย
ภาพที่ ๒๑ สัญลักษณ์การประสูติ
ภาพกอบัวบาน ในหม้อปูรณฆฏะที่แปลกอีกแบบหนึ่ง พร้อมด้วยลวดลายซึ่งเห็นได้ว่าเป็นต้นกำเนิดลายไทย.
(จากหินสลัก แบบอมราวดี สมัยอันธระ
พ.ศ. ๕๐๐๖๐๐)

คำอธิบายภาพที่ ๒๑
ภาพนี้มีลวดลายแบบเดียวกับลายกนกไทยอย่างเห็นได้ชัด
จึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่งว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น. ภาพนี้เป็นภาพลวดลายแบบอมราวดีที่อินเดียใต้
อันเป็นดินแดนที่ถ่ายทอดวัฒนธรรมอินเดียโบราณให้แหลมมลายูโดยตรง แหลมมลายูได้รับวัฒนธรรมอินเดียมากอย่าง
รวมทั้งการประกอบลวดลายด้วย แล้วแผ่ขึ้นมาทางเหนือ กระทั่งมีแบบที่เรียกว่าลายไทยเกิดขึ้น
ดังนั้นลายไทยจึงคล้ายลวดลายแบบอมราวดีที่สุด ดังที่หินสลักแผ่นนี้เป็นตัวอย่างให้เห็น
แม้จะเป็นหินสลักในอินเดียที่เก่าตั้ง ๑,๘๐๐ ปีมาแล้ว จึงนับว่าเป็นสิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่ง
สำหรับผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับลายไทย หรือผู้ที่มีความสนใจในเรื่องนี้. ลวดลายที่หินสลักแบบอมราวดีอีกจำนวนมากมาย
ก็มีลักษณะเป็นต้นกำเนิดลายไทยอยู่ด้วยกันทั้งนั้น หากแต่จางลงไปกว่าที่ปรากฏอยู่ในหินสลักแห่งภาพนี้,
นับว่าเป็นเรื่องใหญ่อีกเรื่องหนึ่ง ที่ควรตั้งข้อสังเกตค้นคว้ากันต่อไป
จนกว่าจะได้เรื่องราวที่สมบูรณ์.
แม้รูปร่างของหม้อปูรณฆฏะในภาพนี้
ก็แปลกกว่าแบบอื่นทั้งหมด ดังที่เห็นอยู่แล้วว่าเป็นรูปแจกันทรงสูง มีลวดลายขนาบสองข้างทำนองหูสำหรับจับ
และอื่น ๆ ซึ่งไม่เคยมีในหม้อปูรณฆฏะแบบใด. ภาพของหม้อกินเนื้อที่เสียมากมาย
จนเหลือเนื้อที่สำหรับกอบัวน้อยมาก. กอบัวในภาพนี้ ไม่มีใบ มีดอกตูม ๔
ดอก, ดอกแย้ม ๔ ดอก, ดอกบาน ๑ ดอก, รวม ๙ ดอก, คิดอย่างไทย ๆ ก็ต้องคิดว่า
ช่างตรงกับจำนวนของมรรค ๔ ผล ๔ และนิพพาน ๑ รวมเป็น ๙ เสียเหลือเกิน, และเหมาะสมที่จะเป็นสัญลักษณ์แห่งการประสูติของพระพุทธองค์เป็นอย่างยิ่ง.
ของเดิมจริง ๆ ของชาวอินเดียในครั้งกระโน้นเขามุ่งหมายถึงอะไร ก็ยากที่จะทราบได้,เราได้ภาพสัญลักษณ์งามมากก็พอแล้ว.

ภาพพุทธประวัติจากหินสลัก > ภาพที่ ๒๑
|