ภาพพุทธประวัติจากหินสลัก
ยุคก่อนมีพระพุทธรูปในประเทศอินเดีย พ.ศ. ๓๐๐๗๐๐
ถ่ายจากภาพปั้นที่จำลองขึ้นใหม่ เพื่อกิจการแห่งโรงมหรสพทางวิญญาณ
ณ สวนโมกขพลาราม อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี

พุทธทาสภิกขุ รวบรวมและอธิบาย
ภาพที่ ๒๕ สัญลักษณ์การประสูติ
ภาพเทวีนั่งเหนือดอกบัว ในหม้อแบบปูรณฆฏะ ถือดอกบัวบานมีช้างรดน้ำจากหม้อลงบนศีรษะ.
(จากหินสลัก แบบสาญจี สมัยสุงคะ พ.ศ.
๔๐๐๕๐๐)

คำอธิบายภาพที่ ๒๕
ภาพซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการประสูติภาพนี้
มีความสำคัญเป็นพิเศษยิ่งกว่าภาพอื่นอยู่อย่างหนึ่ง คือ เป็นวัตถุแห่งความวิวาทกันระหว่างนักปราชญ์ทางโบราณคดีที่เกิดแตกกันเป็นสองพวกเป็นอย่างน้อย
นับตั้งแต่ภาพนี้ปรากฏออกมาในการขุดค้นโบราณสถานที่สาญจีนั้น. ในครั้งแรกที่สุด
มีการเชื่อกันตามนักโบราณคดีคนแรก ๆ ที่สันนิษฐานว่า ภาพนี้เป็นภาพของพระลักษมี
เทพเจ้าแห่งโชคลาภของฝ่ายฮินดูกันทุกคน ต่อมาจึงเกิดความเห็นแตกแยก โดยมีผู้ตั้งข้อสังเกตใหม่
และคัดค้านขึ้น ทำให้เกิดการกล่าวกระทบเทียบกันในระหว่างนักปราชญ์เหล่านั้น
ด้วยวาจากที่ส่อโทสจริต เหมือนพวกนักปราชญ์ที่เถียงกันเรื่องเมืองศรีวิชัยที่ปาเล็มบังในเกาะสุมาตรา
หรือที่พื้นแผ่นดินบนแหลมมลายูตรงที่ค้นพบศิลาจารึกเรื่องเมืองศรีวิชัยนั่นเอง.
เมื่อคนชั้นอาจารย์พูดอะไรออกไปแล้ว ยากที่จะกลับได้ แม้จะรู้ว่าพูดผิดไปแล้ว
ก็ยอมทนอยู่ในลักษณะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกกันอยู่นั่นเอง, ดังนั้นจึงมียังมีคนที่เชื่อตามเอกสารที่เขียนลงไปครั้งแรก
ว่าภาพนี้เป็นภาพพระลักษมีของฮินดูอยู่มาจนกระทั่งบัดนี้ และส่วนมากเป็นนักศึกษาที่เป็นฮินดู,
นักศึกษาที่เป็นฝรั่งเท่านั้น ที่จะคิดอย่างอิสระขึ้นก่อน แล้วแถลงเหตุผลให้คิดกันต่อไป
จนในบัดนี้มีผู้ยอมรับว่าเป็นความจริงตามนั้น. ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่น่าฟังหรือมีประโยชน์มาก
แม้สำหรับพวกเราชาวไทย ที่อาศัยนักปราชญ์ต่างประเทศอยู่มาก โดยมิได้นึกว่าอาจจะพลัดตกลงไปในเหวแห่งความลำเอียงของใครโดยไม่รู้สึกตัว,
เรื่องราวมีดังต่อไปนี้.
ข้อแรกที่สุด จะต้องนึกว่า
เป็นที่ยอมรับกันแล้วอย่างไม่มีที่สงสัยว่า ต้นโพธิ์เป็นสัญลักษณ์ของการตรัสรู้,
วงล้อเป็นสัญลักษณ์ของการแสดงธรรมจักร, และสถูปดินเป็นสัญลักษณ์ของการปรินิพพาน,
และปรากฏต่อไปว่า ที่ซุ้มประตูแห่งสถูปสาญจีทั้งหมดนั้น มีภาพต้นโพธิ์แสดงปรากฏอยู่ถึง
๑๘ แห่ง, ภาพล้อธรรมจักรแสดงอยู่ถึง ๑๐ แห่ง, ภาพสถูปดินปรากฏอยู่ถึง ๑๒
แห่ง, แล้วไม่มีภาพอะไรที่เป็นสัญลักษณ์ของการประสูติเลย เพราะไปสำคัญภาพสตรีในภาพที่
๒๕ นี้ เป็นภาพของพระลักษมีเสีย ทั้งที่ภาพ "พระลักษมีปลอม"
องค์นี้มีประปรายอยู่ทั่วไปในที่นั้น ๆ ถึง ๑๐ แห่ง, หรือ ๑๐ ภาพด้วยเหมือนกัน.
ทีนี้อีกทางหนึ่ง เกิดตั้งข้อสงสัยขึ้นมาว่า
ทำไมพระลักษมีของฮินดูเกิดมามีอยู่ภาพเดียว ในหมู่ภาพมากมายของสถูปซึ่งเป็นของพุทธโดยตรงเช่นนี้เล่า
จึงสลัดความคิดที่เคยคิดว่าเป็นภาพพระลักษมีนั้นเสีย แล้วศึกษาภาพนั้นเองโดยละเอียด
ในที่สุดก็พบความจริงอันเป็นที่พอใจ และเชื่อว่าภาพ "พระลักษมีปลอม"
ทั้ง ๑๐ ภาพนั้นแหละ คือภาพสัญลักษณ์ของการประสูติโดยตรง ซึ่งจะได้แนะให้สังเกตกันต่อไปถึงอะไรหลาย
ๆ อย่างในภาพนั้น.
ภาพนั้น มีสตรีถือดอกบัวบานในมือข้างขวา
นั่งอยู่บนดอกบัวบาน ซึ่งอยู่ในกอบัว ที่โผล่ขึ้นมาจากหม้อปูรณฆฏะอีกต่อหนึ่ง,
มีช้างสองตัว ต่างยืนอยู่บนดอกบัวบาน ต่างเทน้ำจากหม้อน้ำลงบนศีรษะของสตรีนั้น,
กอบัวนั้น มีใบ ๕ ใบ, ดอกตูม ๖ ดอก, ดอกบาน ๓ ดอก รวมทั้งดอกที่ใช้เป็นที่นั่งนั้นด้วย.
อะไรเป็นตัวสัญลักษณ์ของการประสูติในที่นี้.
ตามธรรมดา ดอกบัวเฉย ๆ ก็เป็นสัญลักษณ์อยู่แล้ว, บัวทั้งกอ ก็เป็นสัญลักษณ์ด้วยเหมือนกัน,
ในภาพนี้ มีสตรีถือดอกบัวเพิ่มเข้ามา ควรจะเป็นดอกบัวที่ถืออยู่ในมือเป็นสัญลักษณ์ดังนั้นหรือ,
หรือว่าตัวสตรีนั่นเองเป็นสัญลักษณ์. ตามเรื่องราวที่ปรากฏอยู่ในพุทธประวัติชนิดตำนานที่สืบ
ๆ กันมาของทุกนิกายมีอยู่ว่า ในขณะประสูติแล้ว มี "นาค" สองตัว
รดน้ำลงบนพระเศียร สายหนึ่งน้ำเย็น สายหนึ่งน้ำร้อนหรือน้ำอุ่น, ทำให้เชื่อว่า
สิ่งที่ถูกรดนั่นแหละคือตัวสัญลักษณ์ของพระกุมาร, ดังนั้น ควรจะสังเกตให้ละเอียดต่อไปว่า
บนศีรษะของสตรีในภาพนี้ มีอะไรบางอย่างสูงขึ้นไปจากศีรษะหน่อยหนึ่ง ในลักษณะที่อาจจะเป็นที่รองรับพระกุมาร
หรือสัญลักษณ์ของพระกุมาร ที่แสดงด้วยที่นั่งว่าง ๆ ตามแบบของศิลปะสาญจีนั่นเอง.
เราไม่อาจจะกล่าวว่า สตรีในที่นี้คือพระมารดา, จะกล่าวได้อย่างมากก็เพียงเป็นสัญลักษณ์ของพระมารดาอีกต่อหนึ่ง,
ดังนั้นน่าจะถือว่า อะไรก็ตาม ที่สตรีนั้นทรงไว้ด้วยศีรษะนั่นแหละ คือสัญลักษณ์แทนพระองค์ในขณะแห่งการประสูติ.
ข้าพเจ้าเรียกภาพนี้และภาพถัดไป ว่าเป็นภาพประเภท ครึ่งสัญลักษณ์ ครึ่งภาพเหมือน
ก็มีด้วยเหตุผลอันนี้.
สัตว์ที่เรียกว่านาคในที่นี้
ที่สาญจีทำเป็นช้างเหมือนกันทุกภาพ, ไม่เหมือนกับศิลปะยุคหลัง เช่นยุคคุปตะ
ซึ่งพบที่สารนาถ ทำนาคนี้เป็นคนมีหัวนาคหลายเศียรปกข้างบน แล้วมีหางเป็นงู,
คนนั่นเอง ซึ่งมีอยู่ข้างละคน ถือหม้อน้ำรูปร่างอย่างเดียวกับในภาพที่
๒๕ ของเรานี้ เทน้ำลงบนพระเศียรของพระกุมาร ซึ่งเป็นรูปทารกอย่างคนธรรดา;
ดังนั้นคำว่านาค จึงมีปัญหาเกิดขึ้นว่าหมายถึงช้างหรืองู? ดอกเตอร์ เอ.
ฟูเชอร์ ให้คำอธิบายอย่างน่าฟังว่า คำว่านาค หมายถึงเทพเจ้าแห่งน้ำ (Water-Spirits)
ซึ่งมีหน้าที่อำนวยน้ำ, ทำสัญลักษณ์ของเทพเจ้านี้เป็นงูที่พ่นน้ำออกมา,
ซึ่งความหมายหมายถึงท่อกลวงคดไปคดมามีน้ำออกมาได้ก็แล้วกัน, ช้างมีงวงของมันในลักษณะเหมือนงูหรือนาค,
มันจึงถูกเรียกว่านาค โดยกฎเกณฑ์ของภาษาบาลีหรือสันสกฤตก็ตาม ซึ่งอำนวยให้เกิดศัพท์เช่นนั้นได้.
(คือแทนที่จะต้องมีรูปศัพท์ว่า "มีนาค" ตามแบบของตัตทิตหรือสมาส,
ก็มีรูปศัพท์ว่า "นาค" เฉย ๆ เป็นกรณีพิเศษ ซึ่งมีอยู่บ่อยเหมือนกันในภาษานั้น
หรือแม้ภาษาอื่นในยุคปัจจุบัน), ดังนั้น ภาพช้างสองตัวในที่นี้ ก็คือสัญลักษณ์ของเทพเจ้าแห่งน้ำนั่นเอง,
ไม่ควรจะเข้าใจไปว่าเล็งถึงช้างที่เป็นสัญลักษณ์ของพระองค์ ในคราวปฏิสนธิตามภาพในความฝันของพระมารดา
(ดังที่ปรากฏอยู่ในภาพที่ ๒๘ ข้างหน้า) นั้นเลย, น่าสงสัยอยู่ก็แต่ว่าทำไมจะต้องทำให้ยืนบนดอกบัวด้วยเล่า
ดูจะศักดิ์สิทธิ์เกินตัวไป, ทำให้ต้องสันนิษฐานว่าเป็นความเห็นส่วนตัวของศิลปินผู้กระทำภาพเสียมากกว่า,
เพราะศิลปินมักจะขาดความรู้ทางธรรมเป็นธรรมดา.
ภาพพระศรี หรือลักษมีของฮินดู
ไม่มีเรื่องราวเกี่ยวกับช้าง หรือแม้กับดอกบัวมาแต่ก่อน และกล่าวกันว่าเกิดมาจากทะเลน้ำนม,
จะเกี่ยวกันอยู่บ้างก็แต่หม้อปูรณฆฏะ คือหม้อปริ่มด้วยน้ำ ซึ่งทางฮินดูถือเป็นสัญลักษณ์แห่งลางดี
หรือโชคดีนั่นเอง. แต่ในที่สุด เราต้องไม่ลืมว่า ในวงโบราณคดีเท่าที่ทราบกันมาแล้ว
ไม่เคยพบรูปพระลักษมีของฮินดูเก่าเท่าหรือเก่ากว่าศิลปกรรมแบบสาญจี ดังนั้นพระลักษมีจึงยังไม่เกิดในสมัยนั้น
เพิ่งจะเกิดในสมัยต่อมา และยืมเอาภาพเหล่านี้ที่สาญจีไปเป็นแบบก็ยังได้
แต่ไม่ควรจะมายืนยันให้มีพระลักษมีอยู่รูปเดียวโดดเดี่ยว ในท่ามกลางภาพพุทธประวัติอันมากมายของพุทธสถานล้วน
ๆ แห่งนี้. มีธรรมเนียมที่ไหนในอินเดียเอง ที่มีรูปเทพเจ้าหรือรูปศาสดาของศาสนาอื่นในปูชนียสถานของศาสนาอื่น!
ข้อที่กล่าวว่า รูปสตรีมีช้างรดน้ำทำนองนี้
มีถึง ๑๐ แห่งในซุ้มประตูแห่งสาญจีนั้น ขอให้เข้าใจว่า ทำแบบต่าง ๆ กัน
คือเป็นสตรีนั่งห้อยเท้าในลักษณะที่เรียกว่า "ลีลาศนะ" ดังเช่น
สตรีในภาพที่ ๒๕ นี้บ้าง, ทำเป็นท่ายืน ดังในภาพที่ ๒๖ คือภาพถัดไปบ้าง,
มีหม้อปูรณฆฏะบ้าง ไม่มีบ้าง, และที่นั่งขัดสมาธิอย่างโยคีก็ยังมี, นำมาแสดงในที่นี้เพียงสองแบบเพื่อเป็นตัวอย่างเท่านั้นเอง.
นอกจากนั้น ขอแนะให้นักเขียนลายไทย
ตั้งข้อสังเกตไว้บ้างว่าลายแบบก้านขด ที่ขอบของภาพนี้ทั้งสองข้าง จะให้ความรู้ทางโบราณคดีของลวดลายไทยได้อย่างไรบ้าง,
เพราะลายนี้เป็นแบบมาตรฐานของแบบสาญจี ซึ่งมีอายุตั้ง ๒,๒๐๐ ปีมาแล้วในประเทศอินเดีย.
และลายบัวทำนองนี้ที่ทำถูกต้องตามแบบแผนแล้ว จะตั้งต้นขึ้นมาจากหม้อปูรณฆฏะเสมอ
เพราะเป็นสัญลักษณ์ของน้ำ และกลายเป็นสัญลักษณ์ของความอยู่เย็นเป็นสุขไปในที่สุด.
ความหมายของบัวที่ถึงกับทำให้ถูกนำมาเป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธองค์ในทุก
ๆ ภาพที่แล้วมานั้น อยู่ตรงที่ว่า บัวทั้งหลายสามารถขึ้นมาจากน้ำและโคลน;
แต่รูปและสีและกลิ่นของมันหาเหมือนกับโคลนไม่ มันต่างกันเหมือนอย่างกะว่าเกิดขึ้นมาจากโลกแล้ว
ก็ลอยขึ้นเหนือโลกไปทีเดียว ซึ่งเป็นใจความสำคัญแห่งการเกิดของพระพุทธองค์
ขึ้นมาในโลกนี้นั่นเอง, น้ำเปรียบเหมือนธรรม ซึ่งมีหน้าที่หล่อเลี้ยงบัวคือพระพุทธองค์
ให้เบิกบานถึงที่สุด.

ภาพพุทธประวัติจากหินสลัก > ภาพที่ ๒๕
|