ภาพพุทธประวัติจากหินสลัก
ยุคก่อนมีพระพุทธรูปในประเทศอินเดีย พ.ศ. ๓๐๐๗๐๐
ถ่ายจากภาพปั้นที่จำลองขึ้นใหม่ เพื่อกิจการแห่งโรงมหรสพทางวิญญาณ
ณ สวนโมกขพลาราม อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี

พุทธทาสภิกขุ รวบรวมและอธิบาย
ภาพที่ ๒๘
ภาพพระมารดาบรรทมฝัน มีช้างเผือกลงมา และเข้าไปในพระอุทรแล้วทรงตั้งครรภ์. จารึกข้างบนว่า ภควโต อูกรนติ เป็นภาษาปรากฤต แปลว่า การก้าวลงของพระผู้มีพระภาคเจ้า
(จากหินสลัก แบบภารหตุ สมัยสุงคะ พ.ศ.๓๐๐-๔๐๐)

คำอธิบายภาพที่ ๒๘
ภาพที่ ๒๘ นี้เป็นภาพพระมารดาทรงสุบินว่ามีช้างมาเข้าสู่อุทรเช่นเดียวกับครึ่งล่างของภาพที่
๒๗ แต่มีลักษณะลวดลายต่างกันมาก เนื่องจากเป็นแบบภารหุต แม้ว่าจะเป็นแบบที่พ้องสมัยกับแบบสาญจี
แต่เมื่อเปรียบเทียบกันดูให้ตลอดทุกภาพแล้ว จะเกิดความรู้สึกว่า แบบภารหุตนั้นฝีมือต่ำกว่า
ทำนองจะเป็นฝีมือของชาวบ้านทั่วไป มิใช่ฝีมือของศิลปินดังเช่นแบบสาญจี.
ขาช้างไม่ถูกตามธรรมชาติ ขาเตียงไม่ถูกสัดส่วนตามที่เป็นจริง เหล่านี้เป็นตัวอย่างที่ต้องสังเกตเพื่อทราบคุณค่าทางศิลป์ของแบบภารหุต.
การปั้นภาพจำลองชุดนี้ พยายามทำตามต้นฉบับทุกกระเบียดนิ้ว ลักษณะที่บกพร่องทั้งหลายจึงยังคงมีอยู่ตามเดิม
เพื่อประโยชน์แก่การศึกษาโดยแท้จริง.
ตัวอักษร ๗ ตัวทางด้านบนนั้น
เป็นอักษรพราหมีภาษาปรากฤต, เป็นอักษรและภาษาที่ใช้ในจารึกของพระเจ้าอโศก
เรื่อยมาจนถึงสมัยสุงคะ ที่สร้างสถูปสาญจีและภารหุตเหล่านี้, อักษรนั้นอ่านได้ว่า
ภควโต อูกรนติ. เทียบเท่ากับภาษาบาลีคือ ภควโต โอกกนติ ซึ่งแปลว่า "การก้าวลงของพระผู้มีพระภาค"
ซึ่งหมายถึงการจุติจากสวรรค์ชั้นดุสิตลงสู่ครรภ์พระมารดานั่นเอง.
ในภาพนี้ มีคนเฝ้าปรนนิบัติ
๓ คน เห็นได้ว่าเป็นหญิงล้วน คนหนึ่งถือแส้ปัดแมลง ที่ข้างเตียงทางหัวนอน
มีหม้อน้ำ ที่ปลายตีนเตียงมีดวงประทีป, ช้างมีขนาดใหญ่เกินสัดส่วนที่พอเหมาะ.
ในทางโบราณคดี เขาแนะให้ศึกษารูปร่างของตะเกียงซึ่งคงเป็นตะเกียงน้ำมันเนย,
รูปร่างของหม้อน้ำ, เครื่องประดับที่ตัวคนและที่หัวช้าง ซึ่งเป็นแบบของสมัยสองพันปีเศษมาแล้ว
จะเกิดความสนใจและเข้าใจที่กว้างออกไปในแง่ของมานุษยวิทยา เป็นต้น.
ในแง่ของศิลปะนั้น มีส่วนน่าสนใจอยู่ที่การวางแบบของภาพ
คือเป็นภาพในวงกลม มีดอกบัวและใบไม้ประดับที่มุม ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของแบบภารหุตนี้เท่านั้น,
ถ้าจะดูให้ชัดเจน ก็พลิกไปดูภาพที่ ๒๔ อีกครั้งหนึ่ง.
ในแง่ของธรรมะและพุทธประวัตินั้น
พึงทราบว่าช้างเป็นสัตว์สูงสุดควรแก่การเป็นสัตว์สัญลักษณ์ของพระพุทธองค์
ซึ่งปรากฏว่ามีเพียง ๒ ชนิด คือสิงห์กับช้างนี้เท่านั้น, ช้างเป็นสัญลักษณ์แห่งความประเสริฐ.
สิงห์เป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจ, ในระดับสูงสุดด้วยกัน, แต่เป็นที่น่าเชื่อว่า
คติเช่นกล่าวนี้ เป็นคติที่มีอยู่แล้วก่อนพุทธกาลก็ได้ เพราะปรากฏว่าศาสดาขององค์อื่นแห่งลัทธิอื่น
ที่ใช้ช้างหรือสิงห์เป็นสัญลักษณ์ก็มีอยู่เหมือนกัน, เพราะล้วนแต่เล็งถึงความประเสริฐและความมีอำนาจ
ที่เป็นชั้นสูงสุดด้วยกันทั้งนั้น. แม้คติที่ว่าฝันเห็นช้างเข้าสู่ท้องในขณะตั้งครรภ์นั้น
ก็น่าจะเป็นของเก่าก่อนพุทธกาลด้วย. ในปกรณ์ชั้นบาลี คือพระไตรปิฎก ไม่มีการกล่าวถึงความฝันนี้ของพระมารดา
เพิ่งมามีในปกรณ์ชั้นหลังที่เป็นอรรถกถาหรือปกรณ์พิเศษอื่น ๆ. ในบาลีอัจฉริยภูตธัมมสูตรมัชฌิมนิกาย
กล่าวแต่ว่า พระโพธิสัตว์มีสติสัมปชัญญะก้าวลงสู่ครรภ์มารดา ในขณะที่เทพบุตรทั้งหลายทำการอารักขาในทิศทั้งสี่
และพระมารดาแลเห็นโพธิสัตว์ที่อยู่ในครรภ์ชัดเจนเหมือนเราเห็นเส้นด้ายที่ร้อยอยู่ในแก้วเนื้อใส,
ดังนี้เป็นต้น.

ภาพพุทธประวัติจากหินสลัก > ภาพที่ ๒๘
|