ภาพพุทธประวัติจากหินสลัก
ยุคก่อนมีพระพุทธรูปในประเทศอินเดีย พ.ศ. ๓๐๐๗๐๐
ถ่ายจากภาพปั้นที่จำลองขึ้นใหม่ เพื่อกิจการแห่งโรงมหรสพทางวิญญาณ
ณ สวนโมกขพลาราม อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี

พุทธทาสภิกขุ รวบรวมและอธิบาย
ภาพที่ ๓๔ "ป่าช้าคน"
ภาพ "ป่าช้าคน" คือนางบำเรอหลับอยู่อย่างน่าเกลียด เมื่อพระสิทธัตถะ (แสดงด้วยภาพเก้าอี้ว่าง) ตื่นขึ้นมาเห็น
(จากหินสลัก แบบอมราวดี สมัยอันธระ พ.ศ.๔๐๐-๗๐๐)

คำอธิบายภาพที่ ๓๔
ภาพนี้เป็นภาพที่นิยมเรียกกันว่า
"ป่าช้าคนคืนสุดท้าย", หมายความว่าคืนสุดท้ายที่พระสิทธัตถะจะยังคงมีจิตหมกมุ่นอยู่ในบ้านเรือน,
เพราะตื่นบรรทมขึ้น เห็นหญิงทั้งหลายหลับอยู่ในลักษณะที่ทำให้เกิดความรู้สึกว่า
เป็นซากศพ เกลื่อนไปหมดทั้งโลก จึงตัดสินพระทัยแน่วแน่ในการออกไปจากโลก.
ในบรรดาหินสลักที่สาญจีและภารหุต
ยังค้นไม่พบภาพนี้ ชะรอยศิลปินที่สลักภาพทั้งสองแห่งนี้ไม่ยอมทำ หรือไม่ถูกอนุญาตให้ทำ
เพราะเหตุใดเหตุหนึ่ง เช่นมีความเคร่งครัดเกินไปจนเห็นภาพตอนนี้เป็นความโสกโดกไปก็ได้,
ส่วนศิลปินของอมราวดีนั้นมีความถนัดมือ และทำไว้มากมายหลายตอนด้วยกัน จะเป็นสิ่งอนาจารเพียงไรหรือไม่
นับว่าควรพิจารณาดู.
ภาพตอนนี้ ถ้าเปรียบเทียบกับที่เขียนตามฝาผนังโบสถ์ในเมืองไทยเรา
ตอนพระสิทธัตถะจะออกไปก็ดี หรือ ยสกุลบุตรจะลงบันไดเรือนไปก็ดี เราจะเห็นความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรมประจำชาติอย่างชัดเจนทีเดียว.
ภาพผนังโบสถ์เมืองไทยเรา เขียนให้คนนอนหลับเหล่านั้นสวมเสื้อนุ่งผ้า แต่แล้วทำให้มีผ้าหลุดลุ่ยหรือแตกออกให้เห็นส่วนที่น่าเกลียด
และบางแห่งเขียนให้มีผู้ชายนอนปนอยู่ด้วยท่าทางอันน่าเกลียดก็ยังมี. ถ้าจะนำมาเปรียบกันดูพร้อม
ๆ กันทั้งสองแบบ และให้ศิลปินสากลเป็นผู้วินิจฉัยว่าอันไหนกระเดียดไปทางอนาจาร
และอันไหนเป็นศิลปะแล้ว น่ากลัวว่าแบบไทยเราจะถูกส่ายหน้าก็ได้ จึงขอให้ตั้งข้อสังเกตกันไว้สำหรับเกียรติของศิลปินไทยในอนาคต
เพื่อความปลอดภัยต่อไป.
ในภาพแบบอมราวดีนี้ ดูแล้วจะรู้สึกว่าไม่นุ่งผ้ากันเสียเลย.
แต่ความมุ่งหมายที่แท้จริงของศิลปินนั้น มิได้อยู่ที่นุ่งผ้าหรือไม่นุ่ง
หากแต่ต้องการจะแสดงความงามแห่งสัดส่วนและทรวดทรงของร่างกาย ตลอดถึงท่าทาง,
ทำนองเดียวกับการทำพระพุทธรูปของไทยเรา โดยเฉพาะพระพุทธรูปแบบสุโขทัย.
พระพุทธรูปนั้นเป็นที่ยอมรับกันว่ามีทั้งการนุ่งและการห่มจีวร แต่แล้วทำไมจึงยังทำพระนาภีชัดเจน
และพระถันข้างที่อยู่ภายใต้จีวรก็ชัดเจนเท่ากันกับข้างที่เปลือยด้วยเล่า,
ทั้งจีวรและสบงก็แนบเนื้อจนดูแต่ไกลก็เหมือนกับไม่นุ่งผ้าห่มผ้าเสียเลย,
ดังนั้น, ถ้าหากยอมรับกันว่านั่นเป็นเพราะต้องการศิลปะแล้ว ภาพแบบอมราวดีต่าง
ๆ ดังเช่นภาพนี้เป็นต้น ก็ไม่น่าจะถูกมองไปในทำนองไม่สุภาพหรือเป็นอนาจารเลย
เพราะเป็นภาพหญิงบำเรอ ไม่ใช่ภาพพระพุทธรูปนั่นเอง. คิดดูให้ดีตอนนี้แล้ว
เราอาจจะย้อนไปพอใจในคติที่ไม่ยอมทำพระพุทธรูปเสียเลย ของอินเดียในสมัยพุทธศตวรรษที่
๔-๕-๖ กันขึ้นก็ได้; เพราะเมื่อทำรูปเหมือนหรือปฏิมาแล้ว ก็ย่อมอดที่จะให้มีทรวดทรงและลักษณะท่าทางไม่ได้
อย่างน้อยก็ต้องทำเหมือนคน กระทั่งผิดจากคนไปในที่สุด พระพุทธรูปก็เลยมีลักษณะเหมือนกับไม่นุ่งผ้าไปเสีย
จนต้องแก้ไขหาทางออกว่าเป็นเพียงสัญลักษณ์เป็นต้นไปอย่างน่าขัน. อย่างไรก็ตาม
เราจะต้องระลึกต่อไปว่า การทำพระพุทธรูปห่มจีวรแบบแนบเนื้อเช่นนี้ ไทยเราก็รับแบบมาจากอินเดียอีกนั่นเอง
เช่นแบบคุปตะที่อชันตา และแบบปาละทางเบ็งคอลเป็นต้น, และมาวิวัฒนาการกันถึงที่สุดที่แบบสมัยสุโขทัยเรา
ซึ่งเรียกว่าเราเป็นลูกศิษย์เขาในทางนี้อยู่นั่นเอง. พระพุทธรูปแบบอมราวดีเสียอีกที่ไม่ยอมทำจีวรแนบเนื้อเลย
แต่ทำแบบจีวรรุ่มร่ามเหมือนแบบคันธาระ เพราะเขารู้จักแยกพระพุทธรูปออกจากคนธรรมดากระมัง
จึงทำผ้านุ่งผ้าห่มแนบเนื้อแต่แก่คนคฤหัสถ์ ไม่ยอมทำแก่พระพุทธรูป, และบาปนั้นมาตกหนักอยู่ที่พระพุทธรูปแบบสุโขทัยของเราเอง.
เท่าที่กล่าวมานี้ ก็พอจะมองกันได้แล้วว่าอะไรเป็นศิลปะ อะไรเป็นอนาจาร
ในกรณีที่เกี่ยวกับการสลักหินภาพพุทธประวัติของอินเดีย กับการเขียนที่ฝาผนังโบสถ์ในประเทศเราเอง.
ภาพอมราวดีภาพนี้ เป็นอมราวดียุคกลาง
คือยุคที่จวนจะทำพระพุทธรูปกันที่นั่นแล้ว หากแต่ยังไม่กล้าทำ จึงได้ทำภาพพระสิทธัตถะเป็นเพียงเก้าอี้หรือบัลลังก์ว่าง
ๆ มีแต่เบาะรองนั่งและเบาะอิง ซึ่งอาจจะมีความหมายเป็นอย่างอื่นมากไปกว่านั้น
แต่เรายังทราบไม่ได้ก็ได้. รอบ ๆ เก้าอี้มีหญิงจำนวนหนึ่งกำลังหลับ สมตามท้องเรื่องที่กล่าวว่า
ในคืนนั้นเผอิญพระองค์ทรงตื่นขึ้นมาก่อนหญิงเหล่านั้น จึงได้เห็นภาพที่เรียกว่า
"ป่าช้าคน" เข้าเต็มตา และความรู้สึกเดินไปในทางตรงกันข้ามจากแต่ก่อน
คือเห็นเป็นที่น่าสังเวช แทนที่จะเป็นที่ยั่วยวนดังที่เคยรู้สึกเหมือนยุคแรก
ๆ แห่งวัยรุ่น.
เมื่อมองดูในแง่วัฒนธรรมหรือประเพณี
เราจะเห็นว่าในหมู่หญิงเหล่านั้น มีที่ยืนหลับกอดเสาอยู่ทางริมบนซ้ายขวา
คงจะเป็นพวกที่มีหน้าที่ยืนรับใช้หรืออยู่ยาม ความง่วงครอบงำหนักเข้าจึงมีอาการยืนหลับ,
หญิงบางคนถือแส้ปัดแมลง เห็นได้ว่าเป็นพวกปรนนิบัติในหน้าที่นั้น มิใช่พวกร้องรำทำเพลง,
หญิงบางคนนั่งบนเก้าอี้สูงเกือบเท่าของพระสิทธัตถะเอง ซึ่งจะต้องเป็นชั้นหัวหน้าหรือคนโปรดปรานกว่าคนอื่น,
บางพวกอยู่ในสภาพที่คงจะเป็นนักร้อง, นักรำ, และนักดนตรีเป็นที่สุด ซึ่งกำลังหลับทับเครื่องมือของตน
ๆ คนที่นั่งหลับฟุบอยู่ตรงหน้าบัลลังก์นั้น คงจะเป็นหัวหน้าควบคุมนักร้อง
นักรำและนักดนตรีทั้งหลาย, ถ้าเราเข้าใจเรื่องเหล่านี้อย่างถูกต้องทั้งหมดแล้ว
ก็อาจจะเข้าใจวัฒนธรรมแห่งราชสำนักในสมัยนั้นได้ไม่น้อยเลย ควรจะลองศึกษากันดู.
ภาพเก้าอี้ บัลลังก์ ฟูก และเบาะ เป็นต้น ก็คงเป็นสิ่งที่แสดงไว้อย่างถูกธรรมเนียมและควรแก่การศึกษา.
หญิงทุกคนมีกำไลข้อเท้าเพียง
๒ วง แสดงว่าไม่มีนางกษัตริย์อย่างพระนางยโสธรา รวมอยู่ในจำนวนนั้น.
ภาพคนกับสิงห์สู้กันทางริมล่างสุดนั้น
มิใช่ภาพในท้องเรื่องเป็นเพียงภาพประดับเชิงของภาพท้องเรื่อง ตามแบบของศิลปะอมราวดี
ซึ่งมีอยู่มากแบบ และน่าสนใจด้วยเหมือนกันสำหรับศิลปินทั่วไป, เพราะดูเหมือนต้องการจะแสดงความหมายอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยเสมอไป
ไม่เพียงแต่จะทำให้เนื้อที่เต็ม ๆ เข้าไว้เฉย ๆ, และอย่างน้อยก็ทำให้เด็ก
ๆ สนใจไปได้พลาง ไม่รบกวนผู้ใหญ่ที่กำลังต้องการจะดูภาพข้างบนเป็นต้น.

ภาพพุทธประวัติจากหินสลัก > ภาพที่ ๓๔
|