ภาพพุทธประวัติจากหินสลัก
ยุคก่อนมีพระพุทธรูปในประเทศอินเดีย พ.ศ. ๓๐๐๗๐๐
ถ่ายจากภาพปั้นที่จำลองขึ้นใหม่ เพื่อกิจการแห่งโรงมหรสพทางวิญญาณ
ณ สวนโมกขพลาราม อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี

พุทธทาสภิกขุ รวบรวมและอธิบาย
ภาพที่ ๓๘
ภาพมหาภิเนษกรมณ์แบบอมราวดียุคแรก ๆ ไม่มีเทวดาชูม้า ไม่มีการโรยดอกไม้ มีแต่เทวดาห้อมล้อมม้าออกไป. น่าสังเกตแบบประตูเมือง, การมัดผมม้า และอื่น ๆ รวมทั้งรั้วที่คล้ายแบบสาญจี.
(จากหินสลัก แบบอมราวดียุคแรก ๆ สมัยอันธระ พ.ศ.๔๐๐-๗๐๐)

คำอธิบายภาพที่ ๓๘
ภาพอภิเนษกรมณ์แบบอมราวดียุคแรกภาพนี้
ควรได้รับความสนใจอย่างยิ่ง ตรงที่ไม่มีเทวดาชูเท้าม้า แบกม้า หรือโรยดอกไม้กันเสียงดัง
ดังที่ได้วิจารณ์กันบ้างแล้วในภาพก่อน ๆ ที่เป็นเรื่องเดียวกัน.
ในส่วนที่หักหายไปเสียส่วนหนึ่งทางมุมบนขวา
เห็นได้ว่ามีภาพคน ๒ คน ในท่าที่เหาะลอยอยู่ในอากาศ เมื่อรวมกับอีก ๓ คนข้างล่าง
ในภาพนี้ก็มีคน ๕ คนพอดี, สังเกตจากเครื่องแต่งตัว เห็นได้ว่าเป็นเทวดาสี่
เป็นมนุษย์หนึ่ง คือคนที่กั้นฉัตรให้ม้านั่นเอง ภาพเหนือยอดหลังคาเรือนขึ้นไป
ไม่ใช่ท้องเรื่อง เป็นภาพประดับ, ส่วนที่เป็นท้องเรื่อง ก็นับตั้งแต่หลังคาเรือนลงมา.
ม้ากำลังออกจากซุ้มประตูชั้นนอกของเมือง มีฉัตรกั้นอยู่ข้างบน ย่อมแสดงตามแบบฉบับของศิลปกรรมยุคนี้
ว่ามีพระสิทธัตถะประทับนั่งอยู่บนนั้น, ข้างล่างสุดมีลายรั้วแบบอโศก ซึ่งลวดลายแบบนี้
ไม่มีในหินสลักอมราวดียุคหลัง เพราะเปลี่ยนแปลงไปเป็นลวดลายที่สวยงามอย่างอื่นเสีย
ดังเช่นในภาพที่
๓๙ ถัดไป
การที่มีเทวดา ๔ องค์พาม้าออกไปเช่นนี้
เข้ากันกับคำกล่าวที่กล่าวถึงท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่ เป็นผู้รับผิดชอบในการนำพระสิทธัตถะออกให้ได้
ดังที่กล่าวแล้วในภาพที่
๓๗ มิฉะนั้นอาจจะถูกพิจารณาโทษในสภาเทวดา. คนที่กั้นกลด จะเป็นนายฉันนะใช่หรือไม่
ต้องพิจารณาดู. ในเมืองไทยเรารู้กันว่านายฉันนะวิ่งตามหางม้า มิใช่กั้นกลด,
แต่ในภาพหินสลักทุกภาพ ไม่มีภาพใครกุมหางม้าวิ่งตามหลังเลย, เข้าใจว่าความคิดเรื่องกุมหางม้าวิ่งตามนี้เป็นความคิดชั้นหลังรุ่นลังกาเสียมากกว่า
และเราก็ได้รับมาจากสายนี้, ดังนั้น ควรจะได้พิจารณากันถึงหินสลักยุคเก่าเสียบ้าง
จะเข้าใจอะไรได้ถูกต้องขึ้น หรือที่ใกล้ชิดความจริงแห่งยุคพุทธกาลในอินเดียโดยตรง.
เมื่อถือว่าในภาพยุคแรก ๆ ไม่มีคนกุมหางม้าวิ่งตามหลังแล้ว ตำแหน่งของนายฉันนะก็ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน,
และการกั้นกลดนั้นมิใช่เรื่องจริง เป็นเพียงสัญลักษณ์ตามแบบฉบับของศิลปกรรมในยุคที่ไม่ยอมทำรูปพระศาสดา
เพื่อให้หมายรู้กันว่าพระศาสดาประทับอยู่ ณ ที่ว่างใต้กลดนั้นเอง, ดังนั้นจะถือว่าคนกั้นกลดเป็นนายฉันนะ
ก็ไม่มีเหตุผลอะไรในทางความจริง ได้แต่สมมติเอาพอให้ครบเรื่อง เมื่อถูกเด็ก
ๆ ถามเท่านั้น ในคัมภีร์ชั้นเก่าบางราย กล่าวถึงนายฉันนะวิ่งเคียงข้าง
และไม่ได้พูดถึงกุมหางม้าไว้ ซึ่งคงจะเพิ่งกล่าวกันในคัมภีร์ชั้นหลังต่อมาอีกก็เป็นได้,
แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องจักต้องแน่นอนเสมอว่า มีนายฉันนะตามไปด้วย ดังนั้นศิลปินผู้ทำภาพนี้
จึงอุปโลกน์ให้นายฉันนะเป็นคนถือฉัตรเสียเลยกระมัง. ฉัตรในภาพนี้มีลวดลายอะไรทางด้านในของใบฉัตร,
มีอะไรแขวนฉัตร แต่ดูไม่ออกว่าเป็นพวงมาลัยเหมือนในภาพอื่น ๆ, บัดนี้เราไม่นิยมเขียนลวดลายอะไรที่ฉัตร
เพราะจะกลายเป็นร่มของชาวบ้านไป จะถือว่าทั้งหมดนี้เป็นความเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวกับโบราณคดีได้บ้างกระมัง.
สิ่งที่น่าสนใจที่สุดทางโบราณคดีจริง
ๆ นั้น คือรูปร่างซุ้มประตูชั้นนอกในแบบอมราวดีรุ่นนี้ มีไม้ขวางข้างบน
(อาคิเตรฟ) ๓ อัน ทำนองเดียวกันกับซุ้มประตูสาญจี, และมีรูปทรงเหมือนประตูจีนอีกด้วย,
และเมื่อเทียบกับรูปซุ้มประตูนอกเมือง ในภาพที่
๓๕ ซึ่งเป็นภาพแบบสาญจีโดยตรง, จะพบว่ามีรูปร่างคล้ายกันอีก หากแต่ในภาพที่
๓๕ นี้มีไม้ขวางหรืออาคิเตรฟข้างบนเพียงอันเดียว, (ประตูที่อยู่เหนือม้าตัวแรก
ในภาพที่
๓๕), นั่นมิใช่สำคัญ สำคัญอยู่ที่แบบเดียวกันต่างหาก. ข้อนี้ทำให้เห็นได้ว่าอมราวดียุคแรกนั้น
มีอะไรที่อยู่ใต้อิทธิพลศิลปกรรมแบบสาญจีหรือสุงคะโดยตรงอยู่หลายอย่าง
เพิ่งจะเปลี่ยนให้มีอะไรเป็นอะไรเป็นตนเองในยุคต่อ ๆ มา ดังเช่นที่ลายรั้วแบบรั้วอโศกได้แสดงให้เห็นแล้วในภาพที่
๓๘ นี้ และลายอีกแบบหนึ่งในภาพที่
๓๙ ที่เปลี่ยนแปลงไป, ดังนั้นควรให้ความเชื่อถือแก่อมราวดียุคแรกให้มากที่สุด.
ซุ้มประตูมีอาคิเตรฟแบบอมราวดียุคแรกและแบบสาญจีนี้เรียกกันในภาษาอินเดียว่า
โดระนะ (โทรณ), คล้ายประตูโดริของญี่ปุ่น ทั้งโดยรูปร่างและโดยชื่อที่เรียก,
ถ้าประตูโดริของญี่ปุ่นเป็นวัฒนธรรมที่รับไปจากจีนแล้ว ย่อมมีทางที่จะเป็นไปได้ว่าเป็นของอินเดียมาแต่เดิม,
เพราะอินเดียได้ให้วัฒนธรรมแก่จีนหลายอย่าง ซึ่งคงจะรวมทั้งประตูแบบโทรณนี้ด้วย.
สำเนียงอินเดียออกเสียงตัว ท หรือ ฑ เป็น ด. โทรณ จึงเป็น โด ระ นะ, ซึ่งมีทางที่จะเป็นคำเดียวกับโดริได้,
และเป็นซากทางวัฒนธรรมที่เหลืออยู่ โดยอาศัยภาษาและลวดลายทางศิลปกรรม.
ขอให้สังเกตความสละสลวยเพรียวลม
ของศิลป์แบบอมราวดีแท้ไว้จากภาพภาพนี้ เพื่อการศึกษาเปรียบเทียบต่อไปข้างหน้าอีกด้วย.
สิ่งที่ต้องตั้งข้อสังเกตเป็นพิเศษอย่างยิ่งในทางโบราณคดีอีกอย่างหนึ่งคือ
อมราวดียุคแรกนั้น ไม่มีร่องรอยว่านิยมนับถือความศักดิ์สิทธิ์ของพระยานาคเหมือนอมราวดียุคถัดมา
ซึ่งจะได้ศึกษากันต่อไปในภาพหลัง ๆ, ในขั้นนี้ให้ตั้งข้อสังเกตว่า ในภาพที่
๓๘ นี้ ไม่มีร่องรอยแห่งการนิยมนาคไว้ทีก่อน บางทีจะทำให้เราได้ความรู้ว่า
ในอินเดียใต้นั้น การนับถือนาคเริ่มขึ้นเมื่อไร หรืออย่างไร.

ภาพพุทธประวัติจากหินสลัก > ภาพที่ ๓๘
|