ภาพพุทธประวัติจากหินสลัก
ยุคก่อนมีพระพุทธรูปในประเทศอินเดีย พ.ศ. ๓๐๐๗๐๐
ถ่ายจากภาพปั้นที่จำลองขึ้นใหม่ เพื่อกิจการแห่งโรงมหรสพทางวิญญาณ
ณ สวนโมกขพลาราม อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี

พุทธทาสภิกขุ รวบรวมและอธิบาย
ภาพที่ ๔๔
ภาพพระพุทธองค์ (คือต้นโพธิ์กับบัลลังก์ว่าง) กำลังทรงดำเนินไปกับพระประยูรญาติ ตามท้องถนน ณ กรุงกบิลพัสดุ์ มีเทวดาโดยเสด็จในเบื้องบน
(จากหินสลัก แบบสาญจี สมัยสุงคะ พ.ศ.๔๐๐-๕๐๐)

คำอธิบายภาพที่ ๔๔
ภาพนี้เป็นภาพที่แปลกกว่าทุกภาพในการที่แสดงอิริยาบถดำเนินของพระพุทธองค์
ซึ่งแสดงด้วยพระแท่นว่างอีกนั่นเอง. ข้อนี้หมายความว่า เป็นภาพพระพุทธองค์เสด็จดำเนินไปตามถนนตอนใดตอนหนึ่ง
กับพระพุทธบิดา.
ควรจะสังเกตดูให้ดี ในภาพปรกติทั่วไปตามแบบสาญจีนั้น
เทวดาคู่ข้างบน ต้องอยู่ขนาบสองข้างต้นโพธิ์โดยตรง แต่ในภาพนี้ทำไม่ได้
เพราะมีแท่นว่างอีกแท่นหนึ่งมาขวางอยู่. และยังมีเทวดาพิเศษอีกตนหนึ่ง
ขี่สัตว์รูปร่างแปลกถือบังเหียนลอยติดตามมาด้วย. มีกษัตริย์ซึ่งมีกลดกั้นองค์หนึ่ง
กับผู้หญิงอีก ๕ คน ผู้ชาย ๒ คนตามมาด้วย. ภาพจะเป็นผู้หญิงผู้ชาย ในที่นี้
รู้ได้ง่ายตรงที่มีเครื่องแต่งศีรษะผิดกัน. ในพวกผู้หญิงเหล่านั้น ถือกลดหรือฉัตรเสียคนหนึ่ง
นอกนั้นถืออะไรยากที่จะทราบได้ แต่สันนิษฐานได้ว่าเป็นเครื่องบูชาเป็นส่วนใหญ่.
ภาพแท่นว่างมีต้นโพธิ์นั้น
เป็นสัญลักษณ์ตามปรกติของพระองค์, แม้จะเป็นในอิริยาบถยืน หรือดำเนิน ก็ไม่สามารถทำให้แปลกเป็นอย่างอื่นไปได้
เพราะเป็นเพียงสัญลักษณ์ และเป็นของตายตัว. ส่วนแท่นว่างอีกแท่นหนึ่งเหนือต้นโพธิ์นั้น
แสดงความหมายว่า เหาะไปในอากาศ ซึ่งเราทราบกันอยู่แล้วว่า ในบางตอนได้ทรงแสดงปาฏิหาริย์นั้น
เพื่อทำลายทิฏฐิของพระญาติบางองค์ ที่ไม่เชื่อว่าพระองค์เป็นผู้สำเร็จในวิชาอันสูงสุดทุกประการ.
แท่นนี้ไม่จำเป็นที่จะต้องทำต้นโพธิ์ประกอบ เพราะจะกลายเป็นพระพุทธเจ้าสองพระองค์ไปในคราวเดียวกัน.
ภาพเทวดาคู่ ที่มีลักษณะมุ่งเอียงไปทางซ้ายมือก็ดี เทวดาขี่สัตว์ประหลาดนั้นก็ดีเป็นเครื่องแสดงว่าขบวนนี้กำลังเคลื่อนไปทางซ้ายมือนั่นเอง.
ภาพคนทั้งหมดนั้นก็แสดงลักษณะเดินตาม, รวมความแล้วก็คือ ภาพการเสด็จดำเนินไปตามหนทางกับพระญาติมีพระบิดาเป็นประธาน
ในนครกบิลพัสดุ์; หรือสู่นครจากภายนอกเมือง.
การที่จะอธิบายภาพนี้ว่า
เป็นภาพการถวายบังคมตามปรกติของพระพุทธบิดาแด่พระพุทธองค์นั้น เป็นไปไม่ได้ตรงที่มีฉัตรกั้นและทุกสิ่งอยู่ในลักษณะเคลื่อน,
ดังนั้นเราจึงไม่เชื่อและถือเอาตามคำอธิบายในหนังสือบางเล่ม หรือเจ้าหน้าที่บางคนที่สาญจีเองอธิบายให้.
เพราะอย่างน้อยก็ต้องเป็นการเตรียมเคลื่อนขบวนออกเดิน หรือเดินอยู่ แม้จะมีการพนมมืออยู่ด้วยก็ตาม
ซึ่งไม่เป็นของแปลกสำหรับวัฒนธรรมอินเดีย และแม้แต่วัฒนธรรมไทยเราเองในปัจจุบันนี้.
สิ่งที่ชวนฉงนมีอยู่อย่างหนึ่งคือ
ต้นโพธิ์นั้น บางทีทำเป็นภาพมีใบโพธิ์ชัดเจน บางภาพทำใบของต้นไม้นั้น ดูเป็นใบไม้อย่างอื่นซึ่งไม่เหมือนกับใบโพธิ์
(ลองเปรียบเทียบต้นโพธิ์ของภาพที่
๔๑ กับต้นโพธิ์ในภาพนี้ดู พร้อมทั้งต้นโพธิ์ในภาพที่
๒๗, ๓๕,
๔๐,
๔๓,
๔๕
ดูด้วย). การที่ภาพใบไม้นี้ ดูแตกต่างกันไปเช่นนี้ อาจจะเป็นเพียงความไม่พิถีพิถันของศิลปินผู้รับจ้างแกะสลัก
หรือว่ามีความหมายเป็นอย่างอื่น เป็นสิ่งที่ต้องศึกษากันต่อไป; และเรื่องอาจจะเป็นไปได้ว่า
เมื่อภาพนั้นมุ่งแสดงพระพุทธองค์ซึ่งกำลังประทับอยู่ที่เมืองไหน และมีอารามไหน
ซึ่งมีต้นไม้อะไรเป็นต้นไม้ประจำอาราม. หรือว่าเหตุการณ์อันนั้นเกิดขึ้นเมื่อพระองค์กำลังประทับอยู่ภายใต้ต้นไม้ชื่ออะไรแล้ว,
ศิลปินก็ต้องทำภาพต้นไม้ต้นนั้นประกอบพระแท่นแทนต้นโพธิ์ ดังนี้ก็ได้.
ถ้าเป็นดังนี้จริง ภาพที่แสดงฉากในนครกบิลพัสดุ์ เช่นภาพนี้ก็ดี, หรือภาพแสดงฉากในเมืองเวสาลี
ในภาพที่
๔๕ ถัดไปก็ดี, หรือภาพชฎิลที่แล้วมาก็ดี ย่อมต้องทำเป็นภาพต้นไทร แทนต้นโพธิ์,
เราจึงได้เห็นภาพของใบไม้ที่ผิดกัน เพราะเหตุนี้, และต้องถือว่า นี้เป็นลักษณะหรือเทคนิคอันหนึ่ง
ซึ่งพวกช่างหรือศิลปินควรจะตั้งข้อสังเกตไว้ เพื่อนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่วิชาการของตนสืบไป.

ภาพพุทธประวัติจากหินสลัก > ภาพที่ ๔๔
|