ภาพพุทธประวัติจากหินสลัก
ยุคก่อนมีพระพุทธรูปในประเทศอินเดีย พ.ศ. ๓๐๐๗๐๐
ถ่ายจากภาพปั้นที่จำลองขึ้นใหม่ เพื่อกิจการแห่งโรงมหรสพทางวิญญาณ
ณ สวนโมกขพลาราม อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี

พุทธทาสภิกขุ รวบรวมและอธิบาย
ภาพที่ ๔๕
ภาพวานรตัวหนึ่ง เข้าไปถวายสิ่งของแก่พระพุทธองค์ (คือ ต้นโพธิ์กับบัลลังก์ว่าง) และภาพวานรตัวนั้นเอง เมื่อถวายของแล้วออกมาร่าเริงอยู่. การที่คนหรือสัตว์ตัวเดียวกันถูกแสดงในภาพเดียวหลาย ๆ ครั้ง หลาย ๆ ท่า เพื่อให้เกิดฉากขึ้นหลาย ๆ ฉาก ในภาพแผ่นเดียวกันเป็นวิธีที่ฉลาดและประหยัด และใช้กันมากในหินสลักแบบสาญจี และหินสลักแบบอมราวดี. ขอให้สังเกตให้ดี มิฉะนั้นจะงงไม่รู้เรื่อง
(จากหินสลัก แบบสาญจี สมัยสุงคะ พ.ศ.๔๐๐-๕๐๐)

คำอธิบายภาพที่ ๔๕
ภาพลิงถวายน้ำผึ้งแด่พระพุทธองค์ภาพนี้
เป็นตัวอย่างของภาพประเภทที่ไม่ค่อยเป็นที่ทราบกันในหมู่เถรวาทเรา. เราทราบกันแต่เรื่องในอรรถกถาธรรมบท
ตอนช้างปาริเลยยกะที่เฝ้าปรนนิบัติพระศาสดาเมื่อทรงออกไปประทับเสียในป่า
เนื่องจากสงฆ์แตกกัน และมีลิงตัวหนึ่งฉวยโอกาสถวายน้ำผึ้งจากรวงผึ้ง สองตัวกับช้างเท่านั้น
ไม่มีผู้คนอะไรเลย. ส่วนในภาพที่ ๔๕ นี้ มีผู้คนในลักษณะที่เป็นพระราชา
หรือคฤหบดีรวมอยู่ด้วยเป็นกลุ่มใหญ่ ซึ่งทำให้เห็นได้ว่ามิใช่เรื่องเดียวกัน
ดังนั้นจึงต้องถือเอาตามคำกล่าวของตำนานสายอื่น และยากแก่การอธิบายด้วยกันทั้งนั้น.
ในภาพนี้ มีภาพผู้ชาย ๒
คน, หญิง ๔ คน, เด็ก ๑ คน, ลิง ๒ ตัว; หญิงและชาย ๔ คน แถวบน อยู่ในลักษณะที่เป็นเทวดาก็ได้
ส่วนหญิง ๒ คนกับเด็กที่ตรงหน้าพระแท่นนั้น เป็นมนุษย์โดยแท้; สำหรับลิง
๒ ตัวนั้น เป็นลิงตัวเดียวกัน ถูกแสดงในท่าทางที่กำลังถวายน้ำผึ้งเสียทีหนึ่งก่อน
แล้วแสดงด้วยท่าทางมีความยินดีปรีดาที่ได้ถวายสำเร็จตามประสงค์, สิ่งที่ถวายนั้นเป็นน้ำผึ้งจากต้นตาล
หรือไม้ประเภทต้นปาล์ม ดังนั้นลิงต้องได้มาจากคน มิใช่น้ำผึ้งจากตัวผึ้งที่จะหาเอาได้เองจากป่า
จึงทำให้คิดไปว่าต้องได้มาจากพระราชาหรือเทวดาที่ยืนอยู่ข้าง ๆ นั่นเอง.
คนที่สี่ทางซ้ายมือ ซึ่งเป็นผู้หญิง ยังมีอะไรถืออยู่ในมืออีก ซึ่งดูก็เป็นของบูชาอีกเหมือนกัน.
ในภาพมุมซ้ายล่างมีเด็กเล็ก ๆ มาด้วยนั้นต้องเป็นเรื่องเกี่ยวกับเด็กเช่นความสมประสงค์ที่ได้บุตรเป็นต้น.
ทั้งหมดเท่าที่จะอธิบายได้มีเพียงเท่านั้น เพราะไม่ปรากฏในตำนานฝ่ายเถรวาท
ดังที่กล่าวแล้วข้างต้น และเจ้าหน้าที่ของทางการอินเดียตั้งแต่ต้นมา ก็มิได้อธิบายอะไรมากไปกว่านี้,
ดังนั้น ถ้าผู้ใดทราบอะไรมากไปกว่านี้ ขอได้กรุณาแจ้งไปให้ทราบด้วย.
สำหรับในแง่ของศิลปะและโบราณคดีนั้น
ควรจะสังเกตว่าการแต่งผมของสตรีที่ตรงหน้าพระแท่นนั้น เป็นแบบที่แปลกและน่าสนใจตรงที่สองพันกว่าปีมาแล้ว
มีการรู้จักแต่งผมกันมากแบบเหมือนกัน และอาจไม่ซ้ำกับที่ประดิษฐ์กันอยู่ในปัจจุบันก็ได้
ใครอาจจะค้นคว้าเอามาลองใช้กันดูอีกทีก็จะได้, ท่าทางของลิงตัวหลังนั้น
น่าชมความคิดของศิลปิน. ลิงจะได้บาตรของพระพุทธองค์ไปอย่างไร ย่อมมีความหมายสำคัญอย่างยิ่งของภาพนี้
ในทางที่จะแสดงว่า พระพุทธองค์ทรงสัมพันธ์กับสัตว์เดรัจฉานอย่างไรและเพียงไร
และในลักษณะที่จะหาไม่ได้ในศาสนาอื่นก็เป็นได้. เราไม่ต้องยึดถือไปตามตัวหนังสือ
หรือตามรูปภาพเกินไปจนงมงาย และทำให้กลุ่มพุทธบริษัทถูกหาเป็นคนงมงายไปทั้งหมดด้วยกัน
แต่เราต้องตีความหมายของมันให้ถูกต้อง ในแง่ของโบราณคดี, ศิลปะ, กระทั่งวัฒนธรรมที่เกี่ยวกับศาสนาของคนสมัยโน้นก็จะได้รับอะไร
ๆ ที่เป็นผลดีเกินคาด อย่ามองเป็นเรื่องงมงายไร้สาระไปเสียแต่ต้นมือ ด้วยความอวดดีของมนุษย์แห่งยุคปรมาณูนี้.

ภาพพุทธประวัติจากหินสลัก > ภาพที่ ๔๕
|