ภาพพุทธประวัติจากหินสลัก
ยุคก่อนมีพระพุทธรูปในประเทศอินเดีย พ.ศ. ๓๐๐๗๐๐
ถ่ายจากภาพปั้นที่จำลองขึ้นใหม่ เพื่อกิจการแห่งโรงมหรสพทางวิญญาณ
ณ สวนโมกขพลาราม อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี

พุทธทาสภิกขุ รวบรวมและอธิบาย
ภาพที่ ๔๘
ภาพพระพุทธองค์ปางปรินิพพาน แบบภารหุต แบบหนึ่ง ซึ่งมีอยู่หลายแบบ. ผู้ดูลองทำการเปรียบเทียบดูเองกับแบบสาญจี ในภาพที่แล้วมา. สิ่งที่น่าสนใจที่สุดก็คือเครื่องประดับคน และประดับสถูป.
(จากหินสลัก แบบภารหุต สมัยสุงคะ พ.ศ.๓๐๐-๔๐๐)

คำอธิบายภาพที่ ๔๘
ภาพสถูปสัญลักษณ์แห่งการปรินิพพานภาพนี้
แทบจะไม่ต้องการคำอธิบายอะไรอีกโดยหลักใหญ่ ๆ ในเมื่อได้เข้าใจตามคำอธิบายในภาพที่
๔๗ มาเป็นอย่างดีแล้ว. ภาพนี้เป็นแบบภารหุต ลองใคร่ครวญดูว่าศิลปินมุ่งหมายจะแสดงอะไร
ต่างกันอย่างไร หรือว่าความต้องการของผู้ที่สั่งให้จัดทำไปนั้นมุ่งไปในทางอะไร.
เมื่อประมวลภาพสถูปแบบภารหุตมาดูด้วยกันแล้วจะพบว่าต้องการจะแสดงความหมายต่าง
ๆ ด้วยลวดลาย ไม่เว้นแม้แต่ที่ส่วนที่เรียกว่าอัณฑะ ดังที่จะเห็นได้ในภาพนี้.
แบบสาญจีจะปล่อยส่วนที่เรียกว่าอัณฑะนี้ให้เกลี้ยง มีหรรมิกานิดเดียวและฉัตรเล็ก
ๆ เพื่อให้ดูแล้วรู้สึกว่า ส่วนล่างของสถูปนั้น เต็มไปด้วยสิ่งต่าง ๆ เทียบกันได้กับความโกลาหลวุ่นวายในภาพทั้งสามแล้วค่อย
ๆ เกลี้ยงไม่มีอะไรยิ่งขึ้นไป จนกระทั่งส่วนบนซึ่งถือว่าเป็นส่วนที่เหนือโลก
ก็พยายามทำให้ดูเกลี้ยงถึงที่สุด ส่วนแบบภารหุตนี้เห็นได้ว่ามิได้เป็นอย่างนั้น
เข้าใจว่าเป็นเพราะมีข้อยึดถือต่างกัน สมกับที่เมืองภารหุตนั้นอยู่ไปทางเหนือ.
สำหรับสถูปในภาพนี้ เมื่อดูลงมาจากข้างบน
ก็เริ่มด้วยฉัตรกว้างเกือบเท่าองค์สถูป, มีมาลัยแขวนที่ริมสองข้างห้อยลงมา,
มีดอกไม้สองดอกขนาบสองข้างคันฉัตร, มีเชิงซ้อนเล็กเข้ามา ๆ ๒ ชั้น, ใต้นั้น
และบนหรรมิกา มีซุ้มแบบซุ้มโพธิฆร ตั้งอยู่ทำนองเป็นที่ประทับของพระพุทธองค์
เห็นเพียงเป็นรูปจั่วเล็ก ๆ ซึ่งถูกบังเสียรอบด้าน, ถัดนั้นคือหรรมิกา
มีลักษณะเหมือนกับล้อมโพธิฆรนั้นไว้อีกทีหนึ่ง, สองข้างหรรมิกามีดอกไม้และมาลัยขนาบ,
ถัดมาถึงตัวอัณฑะ มีลวดลายเป็นระย้ากับเฟื่องอย่างงดงาม ในแบบลักษณะที่น่าสังเกต
สำหรับเปรียบเทียบกับแบบไทยเรา, รอบอัณฑะมีรั้วล้อมฐานประทักษิณ แต่ทำชิดเสียทีเดียว
เพราะเป็นเพียงภาพ ไม่ใช่ตัวสถูปเอง, ใต้รั้วประทักษิณ มีลวดลายเป็นจุด
และรูปฝ่ามือเป็นแถวล้อมรอบในลักษณะเป็นเมธิ แล้วก็หมดกัน. ความหมายของลวดลายละเอียดปลีกย่อยในที่นี้จะมีเป็นอย่างไรนั้น
ทิ้งไว้ให้สันนิษฐานกันตามพอใจ แต่อย่าลืมสังเกตให้ละเอียดเป็นต้นว่า ฝ่ามือที่เป็นแถวนั้น
อาจจะเป็นฝ่าเท้าหรือฝ่าพระบาทก็ได้ ซึ่งคงจะมีความมุ่งหมายจะแสดงอะไรอย่างหนึ่งของคนที่นั่นเมื่อสองพันกว่าปีมาแล้ว
ไม่ใช่ทำไปสักว่าให้แปลก ๆ หรือให้แล้ว ๆ ไป.
สองข้างสถูป มีเทวดาสองตน
ถือเครื่องสักการะขนาบอยู่ เป็นที่น่าสังเกตว่า เทวดาแบบภารหุตนี้ มิได้ทำแบบกินนร
คือ ตัวเป็นนกเหมือนแบบสาญจีไปเสียทั้งหมด, แต่ทำเป็นคนโดยสมบูรณ์ทำนองเดียวกับเทวดาแบบฝรั่งก็มี
แต่มีปีกหางใหญ่พอที่จะบินได้ไม่เหมือนเทวดาฝรั่งที่ทำปีกนิดเดียวพอเป็นพิธี,
ในภาพนี้จะเห็นได้ว่า เทวดาทางซ้ายมือที่ถือช่อดอกไม้นั้น ตัวเป็นคน, ส่วนเทวดาตัวทางขวามือที่ถือพวงมาลัยนั้นตัวเป็นนก
แถมยังดูเหมือนต้องเกาะกิ่งไม้ด้วย ต่างกันอยู่, ดังนั้นทำให้เราไม่อาจจะกล่าวได้ว่า
เทวดาตามแบบมาตรฐานของอินเดียนั้น เป็นกินนรหรือเป็นคนอย่างตายตัวลงไป
ขอให้สังเกตไว้เท่านั้น; เพื่อโบราณคดี.
ที่สองข้างสถูปนี้ มีต้นไม้อยู่ข้างละต้น
มีลักษณะไม่ใช่ต้นโพธิ์ แต่เป็นต้นสาละ ดังนั้นจึงเชื่อว่าภาพนี้เป็นฉากของการปรินิพพานที่
"ระหว่างต้นรังทั้งคู่" ดังที่เราเรียกกันติดปากนั่นเอง, และต้นสาละนั้นกำลังมีดอกสมตามท้องเรื่องในตำนานทุกประการ.
ข้อที่ยังคงชวนฉงนอยู่เสมอก็คือข้อที่ว่า ทำไมจึงไม่มีการกระทำเพียงภาพแท่นยาว
ๆ ระหว่างต้นไม้สองต้นนี้กันบ้างเท่านั้น? คงกระทำแต่ภาพสถูปแทนพระบรมศพทุกแห่งไป
ทำนองจะกลัวไปว่า จะไปพ้องกับฉากอื่น ๆ ซึ่งเป็นไปในขณะที่ยังทรงท่องเที่ยวโปรดสัตว์อยู่เสียกระมัง,
ถึงกระนั้นก็ยังมีทางที่จะคิดว่า พระองค์ประทับบนแท่นนั้นตั้งหลายชั่วโมงก่อนปรินิพพาน
ทำไมไม่ทำภาพแสดงฉากตอนนี้ด้วยพระแท่นว่างบ้างเล่า, ในที่สุดก็ต้องสรุปว่า
ถ้าเกี่ยวกับการปรินิพพานแล้วเป็นอันแสดงสัญลักษณ์ของพระพุทธองค์ด้วยภาพสถูปทั้งนั้น
แม้กระทั่งในตอนที่ยังไม่สิ้นพระอัสสาสะปัสสาสะกระมัง, โดยเฉพาะอย่างยิ่งในศิลปกรรมแบบภารหุตซึ่งกระทำภาพต้นสาละคู่ไว้ด้วยนี้,
ขอให้ตั้งข้อสังเกตกันต่อไป.
สำหรับภาพมนุษย์สองข้างสถูปนั้น
มีข้างละสามคน ดูจะเป็นผู้ชายทั้งหมด, ถ้าจะมีผู้หญิงบ้าง ก็คือสองคนที่กำลังคุกเข่าอยู่สองข้างสถูปเท่านั้น,
ทั้งสองคนที่ยืนอยู่ริมสุดขวาและซ้ายนั้น มีลักษณะเป็นกษัตริย์ชั้นเจ้าแผ่นดิน
จึงสันนิษฐานว่า คนที่คุกเข่าอยู่นั้นเป็นชายาของแต่ละองค์ซึ่งเป็นกษัตริย์พ่อลูก
หรืออะไรทำนองนั้น. คนที่หันหลังให้ติดกับสถูปทางซ้ายมือ มีลักษณะเดินเวียนประทักษิณ
เช่นเดียวกับคนที่โผล่หน้าออกมาชิดสถูปทางขวามือด้วยกัน, เป็นอันว่ามีการแสดงความเคารพครบทั้งสามแบบคือการยืนพนมมือไหว้,
การกราบไหว้, และการเวียนประทักษิณ, ใน ๓ อิริยาบถคือ นั่ง ยืน และเดิน.
การที่ขาดอิริยาบถนอนนั้น เข้าใจว่าในยุคนั้นไม่มีท่าแสดงความเคารพด้วยอิริยาบถนอน,
ไม่เหมือนในยุคต่อมา ซึ่งทางธิเบต หรือแม้ในอินเดียสาขาอื่นจากพุทธบริษัท
ได้ประดิษฐ์ท่าไหว้แบบ "อัษฎางคประดิษฐ์" ขึ้นอีกท่าหนึ่ง คือนอนราบลงไปด้วย
ดังจะเห็นได้ทั่วไปในบริเวณพุทธคยาซึ่งกระทำโดยภิกษุธิเบต, และท่านอนอย่างเดียวกันของชาวฮินดูในฤดูไหว้พระในวิหารพระอาทิตย์ที่นาลันทา,
นอนไหว้เช่นนั้นทุก ๆ ช่วงตัวมาจากสระน้ำริมวัด จนกระทั่งถึงในวิหาร. เราไม่เคยพบท่าไหว้เช่นนี้ในหินสลักของพุทธบริษัทยุคสองพันปีเศษมาแล้ว
เราจึงถือว่าไม่มี.
ศิลปะแบบสาญจี ต่างจากแบบภารหุตในแง่ไหนบ้าง
ผู้มีสายตาของศิลปินดูเอาเองก็แล้วกัน.

ภาพพุทธประวัติจากหินสลัก > ภาพที่ ๔๘
|