ภาพพุทธประวัติจากหินสลัก
ยุคก่อนมีพระพุทธรูปในประเทศอินเดีย พ.ศ. ๓๐๐๗๐๐
ถ่ายจากภาพปั้นที่จำลองขึ้นใหม่ เพื่อกิจการแห่งโรงมหรสพทางวิญญาณ
ณ สวนโมกขพลาราม อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี

พุทธทาสภิกขุ รวบรวมและอธิบาย
ภาพที่ ๕๓
ภาพตรีรตนะ ประกอบด้วยภาพดอกบัวบานในวงกลม มีเปลวพุ่งขึ้นไปเป็น ๓ ยอด ทำนองว่าการตรัสรู้ของพระพุทธองค์ ทำให้เกิดรตนะทั้งสามขึ้นในโลก. มีมากแบบ เรียกกันอย่างแพร่หลายในเวลานี้ว่า Tiratana Symbol เป็นเครื่องหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนามาแล้ว แต่พุทธศตวรรษที่ ๓-๔ เช่นทำเป็นยอดคันธงนำกองทัพเป็นต้น.
(ภาพนี้เป็นแบบสาญจี ขอให้พลิกย้อนไปดูภาพที่ ๘)

คำอธิบายภาพที่ ๕๓
ภาพนี้เป็นตัวอย่างอันหนึ่งของภาพตรีรตนะ
ซึ่งมีมากแบบด้วยกัน ดังที่ปรากฏอยู่ในภาพที่ ๗,
ที่ ๘,
ที่ ๙,
ที่ ๓๐,
ที่ ๔๑,
ที่ ๕๐
เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่แสดงให้เราทราบได้ว่า สัญลักษณ์ของพระรัตนตรัยแบบนี้
เป็นสิ่งที่มีใช้กันแพร่หลายในยุคนั้น ๆ อย่างไร และมากน้อยเพียงไรด้วย.
เครื่องหมายของประเทศ ชาติ ศาสนา องค์การอะไรต่าง ๆ เราก็มีกันเหลือเฟือในสมัยปัจจุบันนี้
แต่เครื่องหมายของพระรัตนตรัยโดยตรงนั้น เรายังทราบกันน้อยเกินไปหรือไม่ทราบกันเสียเลยก็มี
ยิ่งกว่านั้นอีกก็คือ เครื่องหมายตรีรตนะที่กล่าวนี้ ประกอบด้วยความหมายในทางธรรมอย่างลึกซึ้งและกว้างขวาง
เป็นเครื่องเตือนใจได้ดี ทั้งแก่คนรู้ธรรมน้อย รู้ธรรมมาก ไม่มีขอบเขต.
โดยหลักใหญ่ ๆ นั้น เครื่องหมายนี้ประกอบขึ้นด้วยส่วนประกอบ
๓ ส่วน คือ ดอกบัวบาน, วงกลม, และเปลวรัศมี.
ดอกบัวหมายถึงการตรัสรู้
หรือการเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้าโดยสมบูรณ์, ซึ่งหมายถึงการปรากฏของธรรมอันเบิกบานออกมา,
วงกลม หมายถึงความไม่มีที่สิ้นสุด หรือความว่างอันมีลักษณะไม่มีที่สิ้นสุด,
ดอกบัวในวงกลมจึงหมายถึงธรรมอันมีลักษณะไม่มีที่สิ้นสุด คือเป็นทุกสิ่งทุกอย่าง
จนไม่อาจจะคำนวณได้ว่ามีอะไรเท่าไร. เปลวรัศมีนั้นคือแสงสว่างอันแผ่ไปได้รอบตัวและไม่มีประมาณอีกนั่นเอง
แต่อาจจะจัดประเภทได้เป็น ๓ ประเภท ตามความหมายของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
แล้วแต่ว่าเราจะจัดคุณของสิ่งทั้งสามนี้ไว้ในลักษณะอย่างไร เช่นเป็นผู้ชี้ทาง-หนทาง-ผู้เดินทาง,
หรือเป็นหมอรักษาโรค-ยารักษาโรค-ผู้หายโรค, หรือเป็นผู้สอน-สิ่งที่สอน-ผู้รับคำสอน,
ดังนี้เป็นต้น, หากแต่เป็นสิ่งที่เนื่องกัน อย่างที่ไม่อาจจะแยกกันได้
เหมือนไม้สามอันอิงกันอยู่ไม่มีล้ม, ความหมายเหล่านี้อาจจะเพ่งให้เห็นได้ง่ายกว่าที่จะเพ่งธงชาติ
๓ สีให้เกิดความรู้สึกว่า ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ของเด็ก ๆ ไปเสียอีก.
พวกนามธรรมทั้งหลาย มีลักษณะซ่านออกรอบตัวเหมือนแสงของดวงอาทิตย์
ครั้นจะต้องเขียนภาพให้มีลักษณะเช่นนั้นก็เขียนไม่ได้ เพราะเขียนในกระดาษแบน
เลยเป็นของแบน หรือแผ่ไปเพียงทางใดทางหนึ่ง ไม่มีลักษณะซ่านออกโดยรอบตัวเหมือนแสงเทียน
ดังนั้นเราต้องทำจินตนาการเองในการดูภาพเช่นนี้ และยิ่งการแผ่ซ่านนั้นไปไกลไม่มีขอบเขตด้วยแล้ว
เราก็ยิ่งเขียนภาพของมันยากยิ่งขึ้นทุกที จนกระทั่งภาพที่เขียนขึ้นนั้น
ต้องทำจินตนาการสองซ้อนสามซ้อนจึงจะเข้าถึงความหมาย, และยิ่งนามธรรมนั้นมิใช่วัตถุธาตุที่มีเนื้อตัวให้กำหนด
แต่เป็นเหมือนความว่าง ไม่มีอะไรด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำจินตนาการยากยิ่งขึ้นอีกมากมายหลายสิบเท่าตัวทีเดียว,
ถ้าเราจะฝึกหัดตีความหมายในทำนองที่ต้องใช้จินตนาการเช่นนี้กันบ้าง ก็จะเป็นการดีแก่การศึกษาศิลปะของคนโบราณ
กระทั่งการที่เราจะสร้างศิลปะที่เกี่ยวกับนามธรรมกันขึ้นเองในอนาคต, จึงได้นำภาพเช่นนี้มาให้ได้เห็นได้วิจารณ์กันเสียบ้าง
ภาพที่
๗ เป็นภาพที่จะให้บทเรียนที่กล่าวนี้ได้ดีภาพหนึ่งทีเดียว คือถึงขนาดที่จะเรียกตามภาษาไสยศาสตร์ว่า
"ยันตร์" ซึ่งถ้าใครรู้ความหมายถึงที่สุดแล้ว จะต้องประสบความสำเร็จในสิ่งที่ตนต้องการโดยสิ้นเชิงทีเดียว,
พวกธิเบตรุ่นหลังได้ประกอบลวดลายที่เรียกว่า ยันตร์ กันขึ้นมากมาย ล้วนแต่น่าดู
น่าคิดหรือน่าสนุกไม่น้อยเลย. อย่างน้อยที่สุดพุทธบริษัทชาวไทยเรา ควรจะรู้จักเครื่องหมายตรีรตนะนี้
ไม่น้อยกว่าที่ชาวต่างประเทศเขารู้จักกัน และกำลังเรียกกันแพร่หลายว่าติระตะนะ
ซิมบ็อลทั่วไปแล้ว.

ภาพพุทธประวัติจากหินสลัก > ภาพที่ ๕๓
|