ภาพพุทธประวัติจากหินสลัก
ยุคก่อนมีพระพุทธรูปในประเทศอินเดีย พ.ศ. ๓๐๐๗๐๐
ถ่ายจากภาพปั้นที่จำลองขึ้นใหม่ เพื่อกิจการแห่งโรงมหรสพทางวิญญาณ
ณ สวนโมกขพลาราม อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี

พุทธทาสภิกขุ รวบรวมและอธิบาย
ภาพที่ ๕๔
ภาพอักษรจารึกที่เสาอโศก ที่ลุมพินี กล่าวถึงการที่พระเจ้าอโศกได้เสด็จมาที่นี่ อันเป็นที่ประสูติของพระพุทธองค์

คำอธิบายภาพที่ ๕๔
ภาพนี้เป็นภาพตัวอักษรโบราณในอินเดีย
ที่ปรากฏอยู่ในจารึกของพระเจ้าอโศก ซึ่งจารึกไว้ตามหน้าผาหรือเสาหินที่ยกขึ้น,
มากมายหลายสิบแห่ง และมีอยู่แห่งหนึ่งที่เกี่ยวกับพระพุทธประวัติโดยตรง
ได้จำลองเอามาติดรวมกับหมู่ภาพพุทธประวัติยุคก่อนมีพระพุทธรูปที่ทำขึ้นเพื่อการศึกษาประกอบกัน,
จารึกนี้ปรากฏอยู่ที่เสาหิน ที่ลุมพินี อันถือกันว่าเป็นที่ประสูติของพระพุทธองค์.
อักษรรูปนี้เรียกกันว่าอักษร
พราหมี, ภาษาที่ใช้คือ ภาษาปรากฤตอันเป็นภาษาชาวบ้าน, ใช้จารึกที่ถิ่นไหน
ก็ใช้ภาษาปรากฤตของถิ่นนั้น เพื่อมีผลดีเต็มที่. เชื่อกันว่าภาษาปรากฤตทางแคว้นอวันตี
คือภาษาที่ถูกปรับปรุงขึ้นเป็นภาษาบาลีที่ปรากฏเป็นพระไตรปิฎกของฝ่ายเถรวาทเรา,
ทั้งเชื่อได้ว่าพระพุทธองค์เสด็จไปเทศนาที่ถิ่นไหน ก็ได้ใช้ภาษาปรากฤตของถิ่นนั้นแสดงธรรมแก่ชนในถิ่นนั้น.
ภาษาเหล่านั้นเป็นภาษาชาวบ้าน คือต่ำเกินไปกว่าที่จะใช้เป็นภาษาทรงพระไตรปิฎกในการสืบอายุศาสนาจึงต้องปรับปรุงให้ดีขึ้นในทางไวยากรณ์
ตลอดถึงการออกเสียงและการประกอบรูปศัพท์, ดังนั้นจึงได้สอบสวนกันแต่ในส่วนใจความให้ถูกต้องเสียก่อน
แล้วร้อยกรองขึ้นเป็นภาษาบาลีเรื่อย ๆ มาจนสมบูรณ์. การออกเสียงและคำที่เรียกจึงต่างกันไป
และมีคำที่น่าสนใจเพื่อการวิจารณ์อยู่มากมาย โดยเฉพาะเช่นคำว่าลุมพินีที่เราใช้เรียกกันในศิลาจารึกนี้
เขียนและออกเสียงว่า ลํมินิ เป็นต้น ชาวบ้านที่ตำบลนี้ในปัจจุบันนี้ เรียกตำบลนี้ของเขาว่ารุมมินเดอี
ซึ่งเห็นได้ว่า ยังอยู่ในรูปของภาษาปรากฤตอยู่นั่นเอง หากแต่เพี้ยนมาตามกาลเวลาที่ล่วงมาถึงสองพันกว่าปีเท่านั้น.
อักษรแบบพราหมี นี้ไม่ยากแก่การศึกษา
สังเกตดูสักครู่เดียวก็จะอ่านได้ เพราะมีตัวพยัญชนะน้อย มีสระน้อย และประกอบกันอย่างง่าย
ๆ ซึ่งเชื่อว่าท่านจะอ่านออกได้ในเวลาไม่กี่นาที, ลองสนใจดูบ้างก็ได้.
ครั้งแรกที่สุด ให้สังเกตสระ
ซึ่งเสียบอยู่ที่ตัวพยัญชนะเฉพาะที่ปลายสุดทางบนของตัวพยัญชนะ คือ สระ
เอ อา อิ อี โอ, ส่วน อุ และ อู นั้นเสียบทางล่าง, ถ้าไม่มีสระอะไรปรากฏอยู่
ก็เท่ากับสระ อะ ทำนองเดียวกับอักษรแบบอื่น ๆ.
ในที่นี้ให้สังเกตจากอักษรสัก
๑๑ ตัว ตอนแรกของบรรทัดบนสุด ซึ่งอ่านได้ว่า เท วา น ปิ เย น ปิ ย ท สิ
น แล้วแยกสระออกจากพยัญชนะดู คือ ตัวแรกที่อ่านว่า เท นั้น ขีดสั้น ๆ ตอนบนที่งิกไปทางข้างหน้า
หรือซ้ายมือนั่นแหละคือสระ เอ. ส่วนที่ต่ำลงมาคือตัวพยัญชนะ ท, รวมกันจึงเป็น
เท, ถ้าขีดที่กล่าวนี้งิกไปทางหลังคือทางขวามือ มันก็เป็นสระ อา, ดังนั้นตัวที่ถัดมา
ก็คือ วา, ตัวที่สามคือ น ไม่มีรูปสระอะไรเลย นั้นคือมีสระอะ, ถัดไปคือ
ปิ, ท่านจะเห็นได้ทันทีว่า สระอิ นั้น นอกจากจะงิกไปทางหลังนิดหนึ่งแล้ว
ยังจะต้องงิกเป็นมุมฉากขึ้นทางบนอีกนิดหนึ่งด้วย, ถ้าจะให้เป็นสระ อี ก็ต้องเสียบขีดเหมือนกันเข้าอีกขีดหนึ่ง
ดังอักษรตัวที่ ๑๕ (นับจากซ้าย) ซึ่งอ่านว่า วี, ถัดจาก ปิ ไปอีกก็คือ
เย, ท่านเข้าใจได้เองทันทีว่า อะไรคือ ย, อะไรคือ เอ. แล้วก็ไล่ไปตามลำดับ
แล้วถอดสระจากพยัญชนะได้เอง. จนหมดสิ้น, สำหรับสระ โอ นั้น คือขีดขวางข้างบนตัวเหมือนกับงิกไปทั้งข้างหน้าและข้างหลัง
หรือเท่ากับ เอ กับ อา ผสมกันเลยนั่นเอง, สระ อุ นั้น ขีดสั้น ๆ ลงไปตรง
ๆ ใต้ตัวพยัญชนะนิดหนึ่ง, ดังจะถอดหนังสือ ๔ บรรทัดครึ่งนี้ อย่างบรรทัดต่อบรรทัดให้ดู
ดังต่อไปนี้
บรรทัดที่หนึ่งมี ๒๓ ตัว
คือ เท วา น ปิ เย น ปิ ย ท สิ น ลา ชิน วี ส ติ ว สา ภิ สิ เต น
บรรทัดที่สองมี ๒๑ ตัว คือ
อ ต น อา คา จ ม หี ยิ เต หิ ท พุ เธ ชา เต ส กย มุ นี ติ
บรรทัดที่สามมี ๒๑ ตัว คือ
สิ ลา วิ ค ฑ ภี จา กา ลา ปิ ต สิ ลา ถํ เภ จ อุ ส ปา ปิ เต
บรรทัดที่สี่มี ๑๙ ตัว คือ
หิ ท ภ ค วํ ชา เต ติ ลํ มิ นิ คา เม อุ พ ลิ เก ก เฏ
ครึ่งบรรทัดที่ห้ามี ๖ ตัว
คือ อ ถ ภา คิ เย จา
เมื่อผู้สนใจพยายามทบทวนคิดและอ่านไปมา
สักครึ่งชั่วโมงก็จะอ่านได้เองจนหมด, และผู้ที่รู้ภาษาบาลีอยู่แล้ว ก็อาจจะทราบได้ว่า
เมื่อเป็นภาษาบาลีจะต้องเป็นอย่างไร โดยไม่ยากเกินไป, แต่ต้องทราบไว้บางอย่างว่า
ตัว ร ไม่มีใช้, ใช้ตัว ล แทน, และภาษาต่างกันอยู่โดยปรกติ เช่น บาลีเป็น
อิธ ในที่นี้ปรากฤตเป็น หิท เป็นต้น, ดังนั้น กาลาปิต ก็คือ การาปิต, หิธ
พุเธ ชาเต ก็คือ อิธ พุทเธ ชาเต เป็นต้นนั่นเอง, ในที่สุดก็จะเดาความหมายได้ถูกหมด.
คำแปลเท่าที่ยุติกันในเวลานี้
เรียงตามบรรทัดต่อบรรทัดเพื่อเปรียบเทียบดังนี้
(๑) พระราชา ปิยทัสสี ซึ่งเป็นที่รักของเทวดา
รดน้ำแล้วยี่สิบปี
(๒) ได้เสด็จมา ด้วยพระองค์เอง
ด้วยการเตรียมใหญ่ เพราะพระพุทธองค์เกิดแล้วที่นี่ ว่าศากยมุนี ดังนี้
(๓) ให้กระทำสิลาวิคฑภิด้วย,
ให้ยกขึ้นแล้ว ซึ่งสิลาถัมภะด้วย
(๔) เพราะพระภควันเกิดแล้วที่นี่
ในลํมินิคาม, ให้เลิกเก็บภาษี
(๕) ซึ่งเก็บอยู่หนึ่งในแปดของผลได้.
ข้อความนี้ แสดงให้เราทราบได้ว่า
พระเจ้าอโศกมหาราชเรียกพระองค์เองว่า ปิยทัสสีซึ่งเป็นที่รักของเทวดา,
เมื่อทำพิธีราชาภิเษกแล้ว ๒๐ ปี ได้เสด็จมายังที่ประสูติของพระพุทธองค์ด้วยความเคารพอย่างใหญ่หลวง,
ทรงให้สร้าง "สิลาวิคฑภิ" ซึ่งยังไม่ยุติกันว่าอะไรแน่ อาจจะเป็นกำแพงหิน
ล้อมสถานที่นั้น, หรืออาจจะเป็นบัวหัวเสามีรูปสัตว์ (เช่นรูปสิงห์ที่สารนาถ
หรือรูปช้างที่สังกัสสะ) เป็นต้น ก็ได้, ส่วนสิลาถัมภะนั้นคือเสาหินที่จารึกอักษรเหล่านี้เอง.
ที่ทำดังนี้ก็เพราะ "พระพุทธะเกิดแล้วที่นี่", หรือ "พระภควันเกิดแล้วที่นี่",
นั่นเอง. ระบุชื่อสถานที่นั้นว่า ลํมินิคาม, ซึ่งต่อมาเรียกกันเป็น ลุมพินี,
ซึ่งเป็นความแตกต่างระหว่างภาษาปรากฤตกับภาษาบาลี แล้วแต่จะเรียกกันด้วยสำเนียงไหน.
พวกชาวบ้านที่นั่นเรียก รุมมิน-เดอี ก็เท่ากับ ลํมิน-เทวี อยู่แล้ว คือเขาเล็งถึงพระเทวีพุทธมารดานั่นเอง.
คำที่ยังเป็นปัญหาไม่ค่อยจะเห็นพ้องเป็นอันเดียวกันได้ ก็คือคำว่า อุพลิเกกเฏอถภาคิเยจา
มีผู้แปลไปต่าง ๆ กันอีกสองสามอย่าง แต่ในที่นี้ถือเอาเสียงข้างมาก หรือเหตุผลที่ว่าคงจะเป็นเช่นนั้น,
และถ้าเป็นการเลิกเก็บภาษีที่เก็บอยู่จริง เราก็ได้ความรู้ว่า การเลิกเก็บภาษีเป็นพุทธบูชานี้
มีมาตั้งแต่ครั้งนั้น และเป็นการกระทำที่พิเศษแท้ น่าจะยังคงเป็นตัวอย่างมาจนถึงทุกวันนี้.
ข้อสำคัญอีกอย่างหนึ่ง ที่เราจะต้องนึกและขอบคุณพระเจ้าอโศกมหาราชเป็นอย่างที่สุดนั้น
ก็คือได้ทรงเข้าไปเกี่ยวข้องกับสถานที่สำคัญของพระพุทธองค์ทุก ๆ แห่ง จนเป็นเหตุให้สถานที่นั้น
ๆ ยังคงปรากฏอยู่มาจนถึงพวกเรา, มิฉะนั้น
แล้วจะสาบสูญหายไปไม่ปรากฏเลยสักแห่งเดียวก็เป็นได้;
ทั้ง ๆ ที่พระเจ้าอโศกได้ทรงกระทำไว้แล้วเช่นที่กล่าวนี้ ก็ยังเป็นการยากที่จะพบได้ง่าย
ๆ เพราะรกร้างเป็นสถานที่ที่มนุษย์ไม่เกี่ยวข้องไปแล้วทั้งนั้น, แต่โดยเหตุที่พระเจ้าอโศกได้ทรงให้ทำอะไรบางอย่างไว้
แม้เพียงเสาหินสักต้นเดียว ก็เป็นเหตุให้คนต่อมาทำอะไรเพิ่มเติมเข้าอีกมากมายเรื่อย
ๆ มา, สิ่งเหล่านั้นจึงยังคงอยู่เป็นเครื่องกำหนดหมายสถานที่สำหรับพระพุทธองค์อย่างถูกต้อง,
และยังแถมสร้างศิลปะวัตถุ เช่นภาพสลักต่าง ๆ เข้าไว้ จนพวกเราได้รับประโยชน์เป็นอันมาก
ดังที่ปรากฏอยู่ในบรรดาภาพทั้งหมดที่นำมาพิมพ์ไว้ในสมุดเล่มนี้.

ภาพลายประดับเป็นรูปช้าง

ภาพลายประดับเป็นรูปช้าง

ภาพประดับ ตอนปรินิพพาน

ภาพลายประดับเป็นรูปมกระ (มังกร)

ภาพพุทธประวัติจากหินสลัก > ภาพที่ ๕๔
|