Leeuwenhock
กับการเคลื่อนที่ของเซลล์ |
|
Antoni van Leeuwenhock เป็นมนุษย์คนแรกที่เห็นจุลินทรีย์
เขาเกิดเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2175 (รัชสมัยพระเจ้าปราสาท ทอง)
ที่เมือง Delft ในประเทศเนเธอร์แลนด์ บิดามีอาชีพเป็นช่างสานตะกร้า
การมีฐานะยากจนทำให้เลเวนฮุก จบการศึกษาเพียงแค่ชั้น ประถม
เมื่อมีอายุได้ 16 ปี ได้เข้าทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินในศาล
ในยามว่างสร้างกล้องจุลทรรศน์ด้วยตนเอง เขาได้ออกแบบสร้าง
โดยใช้เลนส์นูนความยาวโฟกัสสั้นมากเลนส์เดียว
แทนที่จะใช้เลนส์สองเลนส์ดังเช่นคนทั่วไป
ถึงแม้จะไม่ได้รับการฝึกฝนในการฝนเลนส์ มาก่อน
แต่กล้องจุลทรรศน์ที่เขาสร้างนั้นก็เป็นกล้องที่มีสมรรถภาพสูงสุดในยุคนั้น
คือมีกำลังขยายถึง 270 เท่า
การมีสายตาที่แหลมคมและการมีความอยากรู้อยากเห็นได้ทำให้เลเวนฮุกเป็นมนุษย์คนแรกที่เห็นสัตว์เซลล์เดียวในปี
พ.ศ. 2217 เขาได้ ทำให้มนุษย์รู้ว่าจักรวาลนี้มีโลกแห่งจุลินทรีย์ด้วย
ซึ่งสัตว์เล็กๆ เหล่านี้มีอิทธิพลต่อชีวิต และความตายของมนุษย์มาก
และจุลินทรีย์นี้ อาศัยอยู่ในสถานที่ทุกหนแห่ง เช่น ในบ่อ น้ำฝน ปาก
ลำไส้ และในอุจจาระ เป็นต้น เลเวนฮุก
ยังเป็นนักวิทยาศาสตร์คนแรกที่ได้ศึกษา เซลล์เม็ดเลือดแดง
โดยได้พบว่ามันมีขนาดเล็กกว่าเมล็ดข้าวราว 25,000 เท่า ได้เห็นเชื้อ
gonorrhea ว่ามีหางและมีชีวิตอยู่ราว 2-3 ชั่วโมง
เขายังได้ศึกษาอสุจิของผึ้ง เหา นก กบ วัว แมลง
โดยได้จดบันทึกและวาดภาพที่เขาเห็นอย่างละเอียดลออ
และได้ส่งรายงานที่เขา เรียบเรียงนี้ไปลงพิมพ์ในวารสาร Philosophical
Transactions ของ Royal Society ที่ลอนดอน ในประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็น
สถาบันวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในสมัยนั้น
ถึงแม้ภาษาที่เขียนจะเป็นภาษาดัตช์ เพราะเลเวนฮุกไม่รู้ภาษาละตินเลย
แต่บรรณา ธิการวารสารก็จัดการแปลให้เรียบร้อย
ผลงานเหล่านี้ทำให้เขาได้รับเลือกเป็นสมาชิกของ Royal Society ในปี
พ.ศ. 2223
ความมีชื่อเสียงของเลเวนฮุกได้ทำให้เขาเป็นที่รู้จักทั่วยุโรป
แม้แต่จักรพรรดิ Peter มหาราชแห่งรัสเซีย และสมเด็จพระราชินี Mary
แห่งอังกฤษก็ยังเสด็จมาเยี่ยมชมห้องทดลองของเขา
เพื่อทอดพระเนตรดูเม็ดเลือดของนก คน ปลา กบ รวมทั้งตัว hydra และ
volvox เป็นต้น
เลเวนฮุกสมรส 2 ครั้ง และมีบุตร 6 คน แต่ไม่มีหลานเลย
เขาเสียชีวิตที่ Delft เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2266 ขณะมีอายุได้
90 ปี โลกได้พบว่าการค้นพบของเลเวนฮุกมีความสำคัญในอีกสองศตวรรษต่อมา
เมื่อ Louis Pasteur ได้ใช้ความรู้ของเลเวนฮุกบุกเบิก
วิทยาการด้านจุลชีววิทยา โดยการพบวิธีการฆ่าเชื้อโรค (pasteurization)
และสร้างวัคซีน
ในปี พ.ศ. 2218 เลเวนฮุกได้รายงานการเคลื่อนที่ของจุลินทรีย์เล็กๆ
ในหยดน้ำฝนว่า มันมีเขาขนาดเล็กและเวลามันเคลื่อนที่มันจะยืดตัว
ออกแล้วหดตัวเข้า ซึ่งดูเพลิดเพลิน ณ วันนี้
นักชีววิทยาก็ยังสนใจการเคลื่อนที่ของเซลล์
เพราะรู้ว่าการเคลื่อนที่ของเซลล์นี้เอง ที่เป็นตัว
กำหนดรูปร่างของอวัยวะ และเนื้อเยื่อต่างๆ ของตัวอ่อน
ในขณะที่ตัวอ่อนกำลังเจริญเติบโต
และการเคลื่อนที่นี้ยังเป็นสาเหตุทำให้บาดแผล ในร่างกายหายเป็นปกติ
อีกทั้งทำให้เส้นเลือดใหม่ถือกำเนิด
และเวลาเซลล์ไม่เคลื่อนที่นั่นหมายถึงภาวะการเป็นโรค
ข้ออักเสบและร่างกาย มีความผิดปกติของระบบประสาทในทารกแรกเกิด
การมีเทคโนโลยีระดับสูงก็มีส่วนช่วยให้นักชีววิทยารู้แน่ชัดว่า
ปัจจัยใดบ้างที่เป็นตัวกำหนดให้เซลล์เคลื่อนที่ได้ช้าหรือเร็ว
การสามารถ เห็นการเคลื่อนที่ของเซลล์ด้วยตา
ทำให้นักชีววิทยาทฤษฎีสามารถออกแบบการทดลอง
เพื่อทดสอบทฤษฎีการเคลื่อนที่ของเซลล์ได้
และนั่นก็หมายความว่าการศึกษาการเคลื่อนที่ของเซลล์นี้
ต้องการนักวิทยาศาสตร์หลายประเภทเช่น นักเคมี นักฟิสิกส์
นักชีววิทยาและ นักคอมพิวเตอร์ เป็นต้น
ความจริงทฤษฎีการเคลื่อนที่ของเซลล์ได้ถือกำเนิดเมื่อประมาณ 30
ปีมาแล้ว โดย M. Abercrombie แห่งมหาวิทยาลัยลอนดอน ในประเทศอังกฤษ
ซึ่งได้ศึกษาการเคลื่อนที่ของเซลล์ไปบนผิวของแข็ง
โดยใช้กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน ซึ่ง Abercrombie ก็ได้พบว่า
เวลาเซลล์เคลื่อนที่มันจะยืดผนังเซลล์ออกไปแตะผิวสัมผัสตรงตำแหน่งใหม่
โดยอาศัยโปรตีนที่เรียกว่า actin จากนั้นมันก็ใช้โปรตีนอื่น เช่น
myosin และ integrin ซึ่งประกอบกันเป็นผนังเซลล์
ดึงตัวเซลล์ทั้งตัวให้เคลื่อนไปข้างหน้า
นี่คือภาพและเหตุผลง่ายๆ ที่ใช้อธิบายการเคลื่อนที่ของเซลล์
แต่งานวิจัยเรื่องนี้ต้องการรู้ปัจจัยทุกตัวและบทบาทความสำคัญของปัจจัย
แต่ละตัวในการเคลื่อนที่แต่ละครั้ง และในสภาวะแวดล้อมทุกรูปแบบด้วย
เช่น D. Ingber แห่ง Harvard Medical School
กำลังศึกษาบทบาทของแรงภายนอกที่มากระทำต่อเซลล์ในการกำหนดทิศการ
เคลื่อนที่ของเซลล์ ซึ่งเขาก็ได้ทำผิวของแข็งให้มีปุ่มเล็กๆ
ซึ่งมีขนาดเล็กพอๆ กับเซลล์ และปุ่มนี้เป็นรูปวาล์วบ้าง
สี่เหลี่ยมจัตุรัสบ้าง
เขาได้พบว่าเวลาเซลล์เผชิญปุ่มเซลล์ที่มีรูปร่างกลมจะยืดตัวออกมาเพื่อเคลื่อนที่ในทุกทิศทาง
แต่เซลล์ที่มีรูปร่างเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส
จะยืดตัวตรงตำแหน่งที่เป็นมุมของมัน เพื่อเคลื่อนไหวข้างหน้า
ส่วน B. Geiger แห่ง Weizmann Institute of Science ในอิสราเอล
ก็กำลังศึกษาแรงยึดเหนี่ยวระหว่างเซลล์กับผิว ขณะที่เซลล์
กำลังเคลื่อนที่โดยใช้กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน และเขาได้พบว่า
เวลาเขาให้สารเคมีแก่เซลล์เพื่อยับยั้งไม่ให้เซลล์หดตัว แรงยึดระหว่าง
เซลล์กับผิวที่มันจะเคลื่อนที่ไปจะลดลงอย่างทันทีทันใด
ซึ่งนั่นก็แสดงว่า โมเลกุลต่างๆ ในโปรตีน actin
ได้ถูกสารเคมีจัดเรียงตัวมันใหม่
พลังในการเคลื่อนที่จึงหดหายไปด้วย
นักชีววิทยานั้น ตามปกติไม่สนใจคณิตศาสตร์
แต่ขณะนี้นักคณิตศาสตร์กำลังมีบทบาทมากในการสร้างทฤษฎีทางชีววิทยา
โดยการสร้าง แบบจำลองทางคณิตศาสตร์อธิบายและตอบคำถามว่า เซลล์ใช้ actin
ในการผลักดันผนังเซลล์ไปข้างหน้าได้อย่างไร และความแตกต่าง
ระหว่างความเข้มข้นของสารเคมีภายในและนอกเซลล์มีส่วนในการกำหนดความเร็วของการเคลื่อนที่อย่างไร
แต่ทุกคนก็ยอมรับว่า ในการที่จะมีทฤษฎีการเคลื่อนที่ของเซลล์นี้
ทฤษฎีและการทดลองจะต้องตรวจสอบซึ่งกันและกัน แต่เมื่อนักชีววิทยา
มักไม่ใช้คณิตศาสตร์ในการอธิบายปรากฏการณ์ทางชีววิทยา ดังนั้น
การทำงานร่วมกันระหว่างนักชีววิทยากับนักคณิตศาสตร์ในการแก้
ปัญหาเดียวกัน จึงไม่ใช่เรื่องง่าย
ถึงกระนั้นก็ตาม ณ วันนี้ นักคอมพิวเตอร์ เช่น L. Loew
แห่งมหาวิทยาลัย Connecticut ในสหรัฐอเมริกา ก็ได้สร้างโปรแกรมคอม
พิวเตอร์ที่เรียกว่า Virtual Cell เพื่อศึกษาเรื่องนี้เช่นว่า รูปร่าง
(กลม, สี่เหลี่ยม, วงรี) ความเข้มข้นของอิออนในเซลล์ และการปลดปล่อย
พลังงานในเซลล์มีอิทธิพลต่อการเคลื่อนที่ของเซลล์เพียงไร ซึ่ง Loew
ก็ได้ยอมรับว่า ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกมากที่เรายังไม่รู้
แต่นี่ก็เป็นเพียง แบบจำลองง่ายๆ และเมื่อเรารู้มากยิ่งขึ้น
แบบจำลองที่ลึกซึ้งและละเอียดมากขึ้น
ก็เป็นเรื่องที่นักวิจัยจะทำต่อไปได้ไม่ยากนัก
การผสมผสานความรู้สาขาต่างๆ ทั้งฟิสิกส์ เคมี นักชีววิทยา
และคณิตศาสตร์ เพื่อศึกษาการเคลื่อนที่ของเซลล์ในครั้งนี้
จึงเปรียบเสมือน การขุดอุโมงค์จากสองด้านของภูเขา
และเมื่อใดที่ผู้ขุดอุโมงค์ทั้งสองฝ่ายพบกัน เราก็จะรู้ว่า
เราเข้าใจการเคลื่อนที่ของเซลล์ทันที
March 26, 2002
|