|
|
หุ่นยนต์เพื่อความบันเทิง ญี่ปุ่นมิได้เป็นแต่ผู้นำทางเทคโนโลยีหุ่นยนต์เท่านั้น (ญี่ปุ่นมีหุ่นยนต์ใช้งาน 220,000 ตัวเมื่อปลายปี ค.ศ. 1999) หากยังรู้จักหาความบันเทิงใจจากหุ่นด้วย นักธุรกิจญี่ปุ่นอาจซื้อหุ่นยนต์เป็นของเล่นให้นักบริหาร เด็กญี่ปุ่นอาจไปชมหุ่นยนต์ร้องเพลงและพูดได้ที่พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในโตเกียว แต่หุ่นยนต์เพื่อความบันเทิงมิได้จำกัดอยู่แต่ในญี่ปุ่นเท่านั้น ในสหรัฐฯ ก็มีบริษัทขายหุ่นยนต์สำหรับบริการเครื่องดื่มที่บาร์ ที่ญี่ปุ่น ศาสตราจารย์ฮิชิโร คาโต แห่งมหาวิทยาลัยวาเซตะได้พัฒนาหุ่นยนต์ ฮิวมานอยด์ (humanoid) หรือหุ่นยนต์คล้ายมนุษย์ขึ้นมาตัวหนึ่ง ซึ่งสามารถอ่านโน้ตดนตรีและเล่นออร์แกนได้ และยังประดิษฐ์หุ่นยนต์แบบอื่น ๆ อีกหลายแบบ เช่น หุ่นยนต์ที่สามารถเดินสองขาได้ หรือหุ่นที่มีหลายขาคล้ายแมงมุมและสามารถขึ้นบันไดได้ หุ่นพวกนี้ไม่ได้สร้างเพื่อความบันเทิงเท่านั้น แต่ยังเป็นการทดลองที่อาจนำไปใช้ประโยชน์ได้ด้วย เช่น หุ่นแมงมุมอาจนำไปปรับใช้ในอุตสาหกรรมการก่อสร้าง ส่วนหุ่นที่เดินสองขาได้ก็เท่ากับว่าเป็นการทดลองเพื่อพัฒนาขาเทียมที่มีไมโครโพรเซสเซอร์ควบคุมการเคลื่อนไหว เด็กนักเรียนตามที่ต่าง ๆ หลายแห่งในโลกสามารถศึกษาเรื่องคอมพิวเตอร์และการสร้างโปรแกรมได้จากหุ่นยนต์ของเล่น เช่น หุ่นยนต์ควบคุมระยะไกลที่ประดิษฐ์ขึ้นในอังกฤษ ชื่อว่าเจ้า เทอร์เทิล (เต่า) ซึ่งช่วยสอนเรขาคณิตให้เด็กหรือหุ่นยนต์ชื่อ โรเมอร์ (ที่เด็ก ๆ ชอบเรียกว่า เจ้าขนมยักษ์) ซึ่งมีไมโครโพรเซสเซอร์ติดตั้งอยู่ข้างใน จึงสามารถตั้งโปรแกรมให้หุ่นตัวนี้เดินไปเดินมา พร้อมทั้งผลิตเสียงดนตรีอิเล็กทรอนิกได้ด้วย
คัดมาจากเรื่อง อะเดปต์ วัน (Adept one) หุ่นยนต์อเมริกันที่ควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ "รู้จัก" รูปทรงของช็อกโกแลตที่มัน "เห็น" ในจอโทรทัศน์และเลือกหยิบอันที่ถูกต้องมาใส่กล่องได้
| |||||||||||||||||||||||