ชัยวัฒน์ คุประตกุล
จาก เทลีส ถึง อาร์คีมีดิส นักฟิสิกส์ที่โดดเด่นที่สุดของโลก คือ กาลิเลโอ และถึงจุดนี้ ผู้เขียนก็ขอนำท่านผู้อ่าน ไปติดตามผลการสำรวจหา สุดยอดนักฟิสิกส์ของโลกตลอดกาล จำนวน 10 คน ของ Physics World เพราะกาลิเลโอเป็นหนึ่งในสิบ ยอดนักฟิสิกส์ตลอดกาล ในขณะที่นักฟิสิกส์สำคัญ ที่ผู้เขียนได้กล่าวถึงไปแล้ว ไม่มีผู้ใดติดอันดับ 10 สุดยอดนักฟิสิกส์ดังกล่าว
10 สุดยอดนักฟิสิกส์ตลอดกาล มีใครบ้าง สร้างผลงานเด่นอะไรบ้าง ? มีอะไรที่เด่นอย่างไม่ธรรมดาบ้าง ?
เริ่มต้นจากอันดับสูงสุด คืออันดับ 1
อันดับ 1 : อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein)
ในแทบทุกผลการสำรวจหาบุคคลสำคัญของยุคสมัยต่าง ๆ และวงการต่าง ๆ ของสำนักต่าง ๆ ชื่อของ ไอน์สไตน์ จะโดดเด่นติดอันดับสุดยอดเสมอ และสำหรับผลการสำรวจของ Physics World ก็เช่นเดียวกัน ไอน์สไตน์ก็ได้รับการยกย่องให้เป็นสุดยอดนักฟิสิกส์โลกอันดับสูงสุด
ความโดดเด่นของไอน์สไตน์ มิใช่เพียงเรื่องของ ทฤษฎีสัมพัทธภาพ ทั้งภาคพิเศษและภาคทั่วไป (ที่ยังชวนพิศวง จนกระทั่งถึงทุกวันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทฤษฎีสัมพัทธภาพภาคทั่วไป) หรือผลงานทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบล คือ ทฤษฎีปรากฏการณ์โฟโตอิเล็กตริก (ที่นำเอาความคิดเรื่องแสงเป็นอนุภาคมาใช้อย่างเป็นรูปธรรม) หรือเรื่องของการเคลื่อนที่แบบบราวเนียน (ที่ทำให้วงการวิทยาศาสตร์ มีวิธีที่จะวัดขนาดโมเลกุลของน้ำอย่างเป็นรูปธรรม เป็นครั้งแรก) เท่านั้น หากยังเป็นเรื่องของความเป็นวิทยาศาสตร์อย่างเด่นชัดอีกด้วย๊
ความเป็นวิทยาศาสตร์ที่แสดงออกมา ด้วยการกล้าเสนอความคิดนอกกรอบอย่างท้าทาย ดังเช่น การเสนอเป็นหลักการพื้นฐานของทฤษฎีสัมพัทธภาพว่า แสงมีความเร็วคงที่เสมอ ในสุญญากาศ (คือ 186,000 ไมล์ ต่อวินาที หรือ 300,000 กิโลเมตรต่อวินาที) โดยไม่ขึ้นอยู่กับสภาพการเคลื่อนที่ของต้นกำเนิดแสง และผู้สังเกต
และการยอมรับความคิดเห็นหรือหลักการของคนอื่น ถ้ามีเหตุอันสมควร ทั้งๆ ที่ขัดกับความรู้สึกส่วนตัว ดังเช่นเรื่องของ ทฤษฎีควอนตัม ซึ่งโดยความรู้สึกส่วนตัวแล้ว ไอน์สไตน์ไม่ชอบ จนกระทั่งกล่าวบ่อย ๆ ว่า "พระเจ้า ไม่เล่นเกมกับจักรวาลหรอก" แต่เมื่อข้อมูลหลักฐานและแนวคิดของนักฟิสิกส์ส่วนใหญ่ สนับสนุนทฤษฎีควอนตัม ไอน์สไตน์ก็ต้องยอมรับ และยังได้มีส่วนร่วมอย่างสำคัญ สร้างพัฒนาการสำคัญใหม่ ๆ ให้กับทฤษฎีควอนตัมด้วย
อันดับ 2 : ไอแซก นิวตัน (Isaac Newton)
ไม่มีกฎ หรือสมการใด ที่นักฟิสิกส์และนักเรียน - นักศึกษาวิทยาศาสตร์ต้องใช้มากเท่า F = ma ซึ่งเป็น กฎว่าด้วยการเคลื่อนที่ข้อที่สองของนิวตัน และเป็นกฎที่ให้ความหมายอย่างเป็นรูปธรรมที่สุดของ "แรง" แม้แต่เมื่อไอน์สไตน์ให้กำเนิดทฤษฎีสัมพัทธภาพ และสมการเกี่ยวกับแรงและผลจากการกระทำของแรง จะมิใช่แบบง่าย ๆ คือ F = ma หากมีส่วนที่เป็นเรื่องของมวล ( m ) ที่มีค่าไม่คงที่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย แต่นักฟิสิกส์รุ่นเยาว์และแม้แต่นักฟิสิกส์รุ่นใหญ่ในปัจจุบัน ก็ยังสามารถใช้สมการ F = ma สำหรับการเคลื่อนที่ของวัตถุโดยทั่วไปได้อยู่ดี ทั้งนี้เพราะ สมการของนิวตัน (F = ma) ถึงแม้จะไม่ถูกต้องอย่างสมบูรณ์ในทุกกรณีของการเคลื่อนที่ของวัตถุ แต่ก็ยังใช้ได้ สำหรับการเคลื่อนที่ของวัตถุส่วนใหญ่ ที่มนุษย์ทั่วไปเกี่ยวข้อง
เช่นเดียวกับกรณีของแรงดึงดูดโน้มถ่วง นิวตันให้กำเนิดทฤษฎีและสมการที่ใช้คำนวณหาแรงดึงดูดโน้มถ่วง ระหว่างวัตถุ 2 ชนิด ทั้งใหญ่และเล็ก ดังเช่น แรงดึงดูดระหว่างโลกกับดวงจันทร์ ออกมาเป็นสมการง่าย ๆ คือ F = G m 1 m 2 / r 2 โดยที่ G เป็นค่าคงที่ของความโน้มถ่วง (Gravitational Constant ) m 1 และ m 2 เป็นมวลของวัตถุ ที่ดึงดูดซึ่งกันและกัน และ r เป็นระยะห่างระหว่างวัตถุทั้งสอง ถึงแม้ต่อมา ไอน์สไตน์ ได้ให้กำเนิด ทฤษฎีสัมพัทธภาพภาคทั่วไป ซึ่งจริง ๆ แล้ว ก็คือ ทฤษฎีแรงดึงดูดโน้มถ่วง ที่มีความถูกต้องกว่าทฤษฎีของนิวตัน แต่โดยทั่ว ๆ ไป นักฟิสิกส์ส่วนใหญ่ในปัจจุบัน ก็ยังสามารถใช้ประโยชน์จากสมการของนิวตันได้อย่างถูกต้อง ในระดับที่เป็นประโยชน์ได้ โดยไม่ต้องใช้สมการ ที่เป็นกฎความโน้มถ่วงของไอน์สไตน์ ซึ่งใช้ยาก
เมื่อเปรียบเทียบนิวตันกับไอน์สไตน์ ยอดนักฟิสิกส์ทั้งสอง มีทั้งความแตกต่างและความคล้ายคลึงกัน ส่วนที่แตกต่างกัน คือ ไอน์สไตน์ จะไม่มีความไวต่อคำวิพากษ์วิจารณ์ จากคนอื่น ๆ ต่อทุก ๆ เรื่อง ที่เกี่ยวกับตนเองเท่านิวตัน กล่าวง่าย ๆ คือ ไอน์สไตน์ไม่ใจน้อยเท่านิวตัน๊
ส่วนที่เหมือนกัน คือ ทั้งสองต่างก็เป็นยักษ์ใหญ่นักวิทยาศาสตร์ที่อ่อนน้อมถ่อมตน
สำหรับส่วนของนิวตัน เขาได้กล่าวในจดหมายที่เขาเขียนถึง โรเบิร์ต ฮุค ว่า "ถ้าข้าพเจ้าได้เห็นไกลกว่าคนอื่นๆ แล้ว ก็เป็นเพราะว่า ข้าพเจ้าได้อาศัยยืนอยู่บนไหล่ของยักษ์ใหญ่หลายตน"