คุยกันก่อน : 10 สุดยอดนักฟิสิกส์โลกตลอดกาล ตามผลสำรวจของ Physics World เริ่มต้นจากอันดับสูงสุด คือ อันดับ 1 : อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ตามด้วย อันดับ 2 : ไอแซก นิวตัน อันดับ 3 : เจมส์ คลาร์กแมกซ์ เวลล์ อันดับ 4 : นีลส์ บอร์ อันดับ 5 : เวิร์นเนอร์ ไฮเซนเบิร์ก อันดับ 6 : กาลิเลโอ และ อันดับ 7 : ริชาร์ด ไฟน์แมน
สุดยอดนักฟิสิกส์โลกอันดับ 8 มี 2 คน ได้รับคะแนนจากการสำรวจเท่ากัน คนหนึ่ง คือ พอล ดิแรก (Paul Dirac) อีกคนหนึ่งคือ เออร์วิน ชโรดิงเจอร์ (Erwin Schrodinger)
อันดับ 8 (1) : พอล ดิแรก
ในวงการวิทยาศาสตร์ปัจจุบัน ความจริงในธรรมชาติอย่างหนึ่ง คือ อนุภาคทุกชนิด ล้วนมีปฏิอนุภาค หรือ Antiparticle เป็นสิ่งคู่กัน อิเล็กตรอนมีแอนติอิเล็กตรอน หรือโปสิตรอน โปรตอน มีแอนติโปรตอน นิวตรอน มีแอนตินิวตรอน ควาร์ก มีแอนติควาร์ก ผู้ให้กำเนิดความคิดเรื่องปฏิอนุภาค คือ พอล ดิแรก
ปัญหาใหญ่ที่สุด ท้าทายนักฟิสิกส์ในปัจจุบัน คือ การรวมแรงพื้นฐาน 4 แรงเข้าด้วยกัน ซึ่งก็คือการรวมทฤษฎีสัมพัทธภาพ เข้ากับทฤษฎีควอนตัมนั่นเอง แต่เรื่องนี้จริงๆ แล้ว ต้องแยกพิจารณาเป็น 2 ส่วน คือ ทฤษฎีสัมพัทธภาพ ในส่วนเป็นภาคพิเศษกับภาคทั่วไป เพราะมิใช่ทฤษฎีสัมพัทธภาพทั้งสองภาค ซึ่งยังรวมเข้ากับทฤษฎีควอนตัมไม่ได้ หากเป็นเพียงทฤษฎีสัมพัทธภาพภาคทั่วไป เพราะทฤษฎีสัมพัทธภาพภาคพิเศษ ถูกรวมเข้ากับทฤษฎีควอนตัมได้แล้ว ตั้งแต่เมื่อปี ค.ศ.1928 โดยพอล ดิแรก และสมการซึ่งรวมทฤษฎีสัมพัทธภาพภาคพิเศษ เข้ากับสมการกลศาสตร์ควอนตัมได้สำเร็จนี้ ก็รู้จักเรียกกันเป็น สมการดิแรก หรือ Dirac Equation จนกระทั่งทุกวันนี้
พอล ดิแรก เป็นชาวอังกฤษ เกิดที่บริสตอล ,กลอสเตอร์ไชร์ ประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ค.ศ .1902 ถึงแก่กรรม วันที่ 20 ตุลาคม ค.ศ.1984 ที่ฟลอริดา สหรัฐอเมริกา สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ไฟฟ้า เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง จากมหาวิทยาลัยบริสตอล ในปี ค.ศ. 1921 แต่เบนเข็มไปศึกษาต่อทางด้านคณิต- ศาสตร์และฟิสิกส์ทฤษฎี ได้รับปริญญาตรีคณิตศาสตร์เกียรตินิยมอันดับหนึ่งใน ปี ค.ศ.1923 และสำเร็จการศึกษาปริญญาเอกฟิสิกส์ทฤษฎี จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ในปี ค.ศ. 1926
ในช่วงระยะที่ พอล ดิแรก กำลังเป็นนักศึกษาอยู่ ความเคลื่อนไหวที่สำคัญของวงการฟิสิกส์ คือพัฒนาการของทฤษฎีควอนตัม และทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์ ทั้งภาคพิเศษและภาคทั่วไป
พอล ดิแรก สนใจทฤษฎีควอนตัม สนใจคุณสมบัติความเป็นคลื่นและอนุภาคของอนุภาคดังเช่นอิเล็กตรอน และก็สนใจทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์ทั้งสองภาค อย่างแน่นอน เขายังไม่สามารถรวมทฤษฎีสัมพัทธภาพภาคทั่วไปเข้ากับสมการกลศาสตร์ควอนตัมได้ (เพราะจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้ ก็ยังไม่มีนักฟิสิกส์คนใดทำได้) แต่เขาก็สร้างสมการที่เป็นผลจากการรวมทฤษฎีสัมพัทธภาพภาคพิเศษเข้ากับสมการกลศาสตร์ควอนตัมได้ ซึ่งก็คือ สมการดิแรก และจาก สมการที่รวมทฤษฎีสัมพัทธภาพภาคพิเศษเข้ากับสมการกลศาสตร์ควอนตัมของดิแรกนี้เอง เป็นที่มาของปฏิอนุภาค
จากสมการดังกล่าว พอล ดิแรก พบว่าอิเล็กตรอนในสมการดูเหมือนจะมีได้ถึงสองชนิด คือ ชนิดมีประจุไฟฟ้าเป็นลบ และชนิดมีประจุไฟฟ้าเป็นบวก ทั้งนี้ เพราะจากการแก้สมการ มีคำตอบ หรือ Solution ที่เป็นไปได้อย่างทัดเทียมกัน 2 คำตอบ ที่คำตอบหนึ่ง เป็นของอิเล็กตรอนมีประจุไฟฟ้าเป็นลบ อีกคำตอบหนึ่งเป็นของอิเล็กตรอนมีประจุไฟฟ้าเป็นบวก
พอล ดิแรก ประกาศในปี ค.ศ.1931 ว่าอิเล็กตรอนมีสองชนิด คือ ชนิดมีประจุไฟฟ้าลบ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี และชนิดใหม่มีประจุไฟฟ้าบวก
หนึ่งปีต่อมา อิเล็กตรอนมีประจุไฟฟ้าบวก ก็ถูกค้นพบจริงจากการทดลอง