โลกต้องคอยนานถึง 70 ปีจึงจะเห็นว่าคำทำนายของ Einstein เป็นจริง เพราะการที่จะเห็น BEC ก๊าซจะต้องมีอุณหภูมิต่ำใกล้ถึงศูนย์ องศาเคลวิน หรือที่เรานิยมเรียกโดยทั่วไปว่าศูนย์องศาสัมบูรณ์ ซึ่งมีค่าเท่ากับ - 273.15 องศาเซลเซียส เพื่อความเข้าใจในความยาก ลำบากของการทำสสารให้มีอุณหภูมิต่ำใกล้ศูนย์องศาสัมบูรณ์ เราจะสมมุติว่าเรามีเทอร์โมมิเตอร์ที่มีขนาดยาวมากถึง 1,149 กิโลเมตร แท่งหนึ่ง ซึ่งมีสเกลศูนย์องศาสัมบูรณ์อยู่ที่สนามหลวง (กรุงเทพฯ) ส่วนอุณหภูมิ 300 องศาสัมบูรณ์ (ซึ่งเท่ากับ 27 องศาเซลเซียส ) อยู่ที่ ปลายอีกข้างหนึ่งของเทอร์โมมิเตอร์ที่นราธิวาส การแบ่งสเกลของเทอร์โมมิเตอร์นี้จะทำให้เรารู้ว่าตำแห่งอุณหภูมิ 273 องศาสัมบูรณ์ ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่น้ำบริสุทธิ์แข็งตัวอยู่ที่จังหวัดปัตตานี ตำแหน่งอุณหภูมิที่ขั้วโลกใต้จะอยู่ที่ตรัง อุณหภูมิ 77 องศาสัมบูรณ์ซึ่งเป็น อุณหภูมิที่ก๊าซไนโตรเจนกลายเป็นของเหลวจะอยู่ประจวบคีรีขันธ์อุณหภูมิ 4 องศาสัมบูรณ์ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่ก๊าซฮีเลียมกลายเป็นของเหลว จะอยู่ที่พุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม และอุณหภูมิ 0.0000017 องศาสัมบูรณ์ ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่นักฟิสิกส์สามารถเห็น BEC ได้ ก็จะอยู่ ที่ที่ห่างสนามหลวงเพียง 0.4 มิลลิเมตรเท่านั้น ( ทฤษฎีฟิสิกส์ด้านอุณหพลศาสตร์ได้แถลงว่ามนุษย์ไม่สามารถสร้างสสารให้มีอุณหภูมิ องศาสัมบูรณ์ได้)
ดังนั้นการแถลงข่าวของ Eric A. Cornell แห่ง National Institute of Standards and Technology และ Carl E. Wieman แห่งมหาวิทยาลัยโคโลราโด ที่เมืองโบลเดอร์ในรัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2538 จึงทำให้โลกตื่นเต้น เมื่อเขาประกาศว่า เขาประสบความสำเร็จในการทำให้อะตอมของธาตุ rubidium-87 จำนวน 2,000 อะตอม หลอมรวมกันเป็นซูเปอร์ อะตอมที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางยาว 0.00008 เซนติเมตร นาน 15 วินาที ซึ่งอะตอมแต่ละตัวได้สลัดทิ้งความแตกต่างที่เคยมีจนกระทั่งมี คุณสมบัติที่เหมือนกันทุกประการ ลักษณะเดียวกับการมีเหล่าทหารที่เดินไปเดินมาอย่างไม่เป็นระเบียบ แต่พอมีเพลงมาร์ชทหารทุกคน ก็เดินเข้าแถวสวนสนามด้วยลีลา ท่าทาง และจังหวะที่พร้อมเพรียงกัน เหล่าอะตอมในซูเปอร์อะตอมก็เช่นกัน อะตอมทุกตัวเคลื่อนที่ด้วย ความเร็วประมาณ 1 เซนติเมตรต่อวินาที และไปในทิศเดียวกัน ตรงตามคำทำนายของ Einstein ทุกประการ
|