นักดาราศาสตร์พบ Dark Galaxy
ภาพในวงรีแสดงบริเวณที่มีการค้นพบกาแล็กซีมืด กลุ่มนักดาราศาสตร์ใน สหราชอาณาจักร ค้นพบกาแล็กซีลึกลับซึ่งไม่ได้ประกอบด้วยดาวฤกษ์ แม้แต่ดวงเดียว และไม่มีแสงสว่างในตัวเอง โดยคาดว่า กาแล็กซีมืด นี้อาจจะประกอบมาจาก สสารมืด หรือ Dark Matter ซึ่งเป็นสสารลึกลับที่เป็นองค์ประกอบส่วนใหญ่ของเอกภพ ทฤษฎีสสารมืดตั้งขึ้นมาเพื่อที่จะอธิบายปรากฏการณ์ที่กาแล็กซีต่างๆมีมวลสารอยู่น้อยกว่าที่ควรจะเป็นมาก นักดาราศาสตร์มีวิธีที่จะวัดมวลของกาแล็กซี่ต่างๆได้ 2 วิธี คือ หนึ่งสังเกตการณ์เคลื่อนที่ของวัตถุนั้นแล้วคำนวณหามวลสารโดยอาศัยกฎแรงโน้มถ่วงของนิวตัน และ สองโดยการนับจำนวนดาวฤกษ์ที่มีอยู่ในกาแล็กซีและสังเกตความสว่างของดาวแต่ละดวง แล้วคำนวณหามวลสารโดยใช้ทฤษฎีการวิวัฒนาการของดวงดาว ปัญหามีอยู่ว่ามวลสารที่วัดได้โดยวิธีที่สองมีค่า น้อยกว่า มวลสารที่วัดได้ด้วยวิธีแรกมากมาย นักดาราศาสตร์จึงตั้งสมมุติฐานว่าน่าจะมีมวลสารลึกลับซ่อนอยู่อีกเป็นจำนวนมหาศาลซึ่งไม่สามารถมองเห็นได้จากกล้องโทรทัศน์ สสารดังกล่าวสามารถที่จะมีแรงดึงดูดระหว่างมวลกับอนุภาคอื่นได้ แต่ไม่สามารถที่จะดูดกลืนหรือปล่อยปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือ ทำอันตรกริยากับอนุภาคอื่นได้ จึงเป็นที่มาของทฤษฎีสสารมืด หรือ Dark matter นักฟิสิกส์เชื่อว่าสสารมืดเป็นองค์ประกอบพื้นฐานของเอกภพ และมีส่วนอย่างอย่างมากในการทำให้เกิดกาแล็กซี่ต่างๆเกิดขึ้น ในทางทฤษฎีเชื่อว่าในขณะที่เอกภพยังมีอายุไม่มากนัก สสารมืดจะช่วยดึงดูดให้กลุ่มก๊าซต่างๆมารวมตัวกันและวิวัฒนาการเป็นกลุ่มกาแล็กซีต่างๆอย่างเช่นที่เห็นกันในปัจจุบันนี้ จากการศึกษาของนักฟิสิกส์และนักดาราศาสตร์พบว่า 25% ของมวลสารทั้งหมดของเอกภพอยู่ในรูปของสารมืด มีเพียง 5% เท่านั้นที่ประกอบด้วยสสารทั่วไปที่เรารู้จัก (สำหรับองค์ประกอบส่วนใหญ่อีก 70%ของเอกภพอยู่ในรูปของพลังงานที่เรียกว่า Dark Energy หรือ พลังงานมืด ซึ่งทำให้เอกภพขยายตัวออกด้วยความเร่ง) ความก้าวหน้าทางด้านดาราศาสตร์วิทยุหรือ(Radio Astronomy) นำมาใช้ศึกษาปริมาณและสัดส่วนของก๊าซไฮโดรเจนในบริเวณต่างๆของจักรวาล ช่วยทำให้นักดาราศาสตร์สามารถศึกษาเทหวัตถุที่ไม่มีแสงสว่างในตัวเองได้อีกด้วย เช่น กลุ่มเมฆหมอกก๊าซในอวกาศที่ไม่ได้มีดาวฤกษ์เป็นองค์ประกอบ เมื่อปีที่แล้วทีมนักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยคาดิฟในสหราชอณาจักร ได้ทำการสำรวจกลุ่มกาแล็กซี Virgo โดยอาศัยกล้องโทรทัศน์วิทยุ Lovel telescope ที่ศูนย์สังเกตการณ์ดาราศาสตร์ Jodrell Bank Observatory นักดาราศาสตร์กลุ่มนี้ตรวจพบกาแลกซี่ใหม่ที่ชื่อว่า VIRGOHI21 ซึ่งประกอบด้วยเมฆหมอกของก๊าซไฮโดรเจนที่มีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ถึง 100 ล้านเท่า ซึ่งในขณะนี้ ดร.โรเบิรต์ มินชิน (Dr. Robert Minchin) หัวหน้าทีมวิจัยกำลังศึกษากาแล็กซีดังกล่าวอย่างละเอียด แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีตรวจพบกลุ่มก๊าซมืดลักษณะเช่นนี้มาก่อน แต่จากการศึกษาอย่างละเอียดก็จะพบว่ากลุ่มก๊าซเหล่านั้นมักจะมีดาวฤกษ์อยู่ด้วยเสมอ หรืออาจจะอยู่ใกล้กาแล็กซีอื่นๆที่สามารถจะมองเห็นได้ แต่กรณีของ VIRGOHI21 นั้นเป็นกาแล็กซีที่ตรวจพบว่าไม่ได้ประกอบด้วยดาวฤกษ์แม้แต่ดวงเดียว จึงทำให้เชื่อว่ากาแล็กซี่นี้น่าจะประกอบด้วยสสารมืด ทีมนักดาราศาสตร์ได้คำนวณความเร็วการหมุนรอบตัวของกลุ่มก๊าซไฮโดรเจนใน VIRGOHI21 แล้วพบว่ามันเคลื่อนที่เร็วกว่าที่คาดไว้มาก ซึ่งด้วยความเร็วดังกล่าว กาแล็กซีนี้ควรจะมีมวลสารอยู่มากกว่ากลุ่มก๊าซไฮโดรเจนที่วัดได้ประมาณหนึ่งพันเท่า ยิ่งไปกว่านั้นถ้ากาแล็กซีนี้ไม่ได้ประกอบด้วยสสารอื่นอยู่ กลุ่มก๊าซไฮโดรเจนควรจะสามารถรวมตัวกับเป็นดาวฤกษ์และให้แสงสว่างได้
| |||
หน้าที่
| |||
|
![]() |
![]() |
![]() |
หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ฟิสิกส์ 1 | หนังสือฟิสิกส์ 1 ภาคกลศาสตร์ | หนังสือฟิสิกส์ 1 ภาค ของไหล ความร้อนและคลื่น |