ไดโนเสาร์สูญพันธุ์
ในคืนวันที่ 6 เมษายน 2545 ประชาชนทางตอนใต้ของเยอรมนีรู้สึกตกใจกับท้องฟ้าที่สว่างไสวผิดปกติ หลังค้นหาอย่างละเอียดก็มีการค้นพบเศษดาวตกเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ในบริเวณใกล้ปราสาทนอยชวานสไตน์อันมีชื่อเสียง ในเดือนพฤษภาคม และมิถุนายนปีถัดมามีการค้นพบเศษดาวตกอีกสองชิ้น ต้องยกความดีความชอบให้แก่เครือข่ายกล้องถ่ายภาพที่เฝ้าตรวจหาดาวตกบนท้องฟ้าในยุโรปตลอดเวลา ผู้เชี่ยวชาญจึงรู้ตำแหน่งที่ต้องไปค้นหา ภาพที่ถ่ายได้จากสถานที่ต่าง ๆ ช่วยให้สามารถคำนวณจุดตกได้ เมื่อพิจารณาค่าความสว่าง เส้นทางการเคลื่อนที่ และองค์ประกอบของเศษที่พบนักวิจัยประมาณว่าอุกกาบาตที่นอยชวานสไตน์มีน้ำหนักก่อนเข้าสู่บรรยากาศโลกประมาณ 300 กิโลกรัม ทางตอนใต้ของเยอรมนียังมีหลักฐานการตกของอุกกาบาตขนาดใหญ่อื่น ๆอีกบางแห่งเป็นหลุมกว้างถึง 20 กิโลเมตร แต่ยังเทียบไม่ได้กับสิ่งที่ตกลงมาจากท้องฟ้าในบริเวณอื่นของโลก เมื่อ 65 ล้านปีก่อนอุกกาบาตขนาดสิบกิโลเมตรพุ่งชนคาบสมุทรยูคาทันในเม็กซิโกด้วยความเร็วที่เร็วกว่าเครื่องบิน 100 เท่า ฝุ่นนับพันล้านตันพวยพุ่งขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศจากหลุมอุกกาบาตที่กว้างใหญ่ราว 150 กิโลเมตร ส่งผลให้โลกตกอยู่ในความมืดมิด แสงอาทิตย์อันอบอุ่นส่องลงมาไม่ถึงพื้นโลก คาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากพืชขาดแสงอาทิตย์ที่จำเป็นต่อการสังเคราะห์แสง ในระยะเวลาหลายสัปดาห์และหลายเดือนต่อมา สิ่งมีชีวิตที่รอดจากการชนครั้งมโหฬารมาได้ก็ค่อย ๆ ตายลงเนื่องจากภูมิอากาศของโลกเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหัน พวกหนึ่งในนั้นคือไดโนเสาร์ซึ่งสูญพันธุ์ไปจากโลกพร้อมกับสัตว์และพืชปริมาณสองในสามของชนิดพันธุ์ที่มีอยู่ในเวลานั้นเพราะไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ได้ การที่วัตถุในอวกาศคือสาเหตุการสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์เป็นข้อถกเถียงที่มีมาเป็นเวลานาน อย่างไรก็ตามทุกวันนี้มีสิ่งบ่งชี้มากมายที่สนับสนุนทฤษฎีนี้ อาทิ การพบธาตุบางชนิดในชั้นหินบริเวณที่ถูกชนในปริมาณที่ผิดธรรมชาติ และลักษณะโครงสร้างหินที่จะเกิดได้ก็เพียงวิธีเดียวคือด้วยความร้อนมหาศาลในช่วงเวลาสั้น ๆอย่างที่เกิดจากการชนด้วยความรุนแรง | |
หน้าที่
| |
จาก รีดเดอร์ส ไดเจสท์ มีนาคม
2549 โดย มิคาเอล โวเกล |
![]() |
![]() |
![]() |
หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ฟิสิกส์ 1 | หนังสือฟิสิกส์ 1 ภาคกลศาสตร์ | หนังสือฟิสิกส์ 1 ภาค ของไหล ความร้อนและคลื่น |