ประวัติของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศไทย
นับตั้งแต่อดีตอันยาวนาน
คนไทยมีลักษณะนิสัยที่เปิดใจกว้างยอมรับวัฒนธรรมของชาติอื่น มีขันติต่อวัฒนธรรมที่แตกต่างไปจากวัฒนธรรมของตน
และยินดีเรียนรู้วัฒนธรรมของโลกภายนอก คนไทยพร้อมที่จะยอมรับวัฒนธรรมต่างถิ่นในส่วนที่สอดคล้องกับวัฒนธรรม
และช่วยตอบสนองความต้องการของมนุษย์ จึงเป็นผลให้การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในสังคมไทยมีลักษณะเฉพาะตัว
ท่ามกลางการพัฒนาในกระแสโลกด้วยเช่นกัน กล่าวคือ คนไทยมีแนวโน้มที่จะเป็น
"ผู้ตาม" มากกว่าเป็น "ผู้นำ" และเป็น "ผู้บริโภค"
มากกว่าเป็น "ผู้ผลิต"
เย็นใจ เลาหวนิช
(2530 :65) กล่าวว่า เทคโนโลยีเป็นสิ่งที่มีอยู่คู่กับชีวิตไทยตั้งแต่โบราณกาล
แต่มิได้เรียกกันว่า "เทคโนโลยี" เพราะเป็นคำใหม่ซึ่งเพิ่งจะปรากฎเป็นทางการครั้งแรกในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน
พ.ศ. 2525 คนส่วนมากในอดีตรู้จักเทคโนโลยีในฐานะ "วิชาช่าง"
ต่าง ๆ ช่างไทยในสมัยโบราณได้ฝากฝีมืออันน่าพิศวงไว้เป็นมรดกของชาติ
ดัง ปรากฎอยู่ในปัจจุบันนี้หลายเรื่อง สำหรับประวัติของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศไทย
แบ่งออกเป็นสมัยต่าง ๆ ได้ดังนี้ คือ
1. สมัยก่อนกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี (ก่อน พ.ศ. 1792)
ผืนแผ่นดินที่เป็นประเทศไทยในปัจจุบัน
เป็นดินแดนที่เก่าแก่แห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ มีผู้คนหลายเผ่าพันธุ์ตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์
สืบต่อเนื่องกันมาไม่ขาดสายนับเป็นเวลาพัน ๆ ปีมาแล้ว จากชุมชนหมู่บ้านที่กระจายตัวอยู่ทั้งบนที่สูงและที่ราบลุ่มแม่น้ำ
ได้มีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มเมือง และพัฒนาเป็นแว่นแคว้นในภูมิภาคต่าง
ๆ นับตั้งแต่พุทธศตวรรณที่ 11 หรือ 12 เป็นต้นมา
ชุมชนส่วนใหญ่ตั้งหลักแหล่งอยู่ตามบริเวณแม่น้ำสายต่าง
ๆ ซึ่งเป็นแหล่งอุดมสมบูรณ์สำหรับการเพาะปลูก และสามารถติดต่อกับชุมชนอื่น
ๆ ที่อยู่ใกล้เคียงได้โดยสะดวก ชุมชน เหล่านี้มิได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว
แต่มีการติดต่อระหว่างกลุ่มชนต่าง ๆ เพื่อแลกเปลี่ยนอาหาร สิ่งของเครื่องใช้และได้เรียนรู้วัฒนธรรมของคนต่างกลุ่ม
เกิดความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มชนที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน หรือมีความเกี่ยวดองในระบบเครือญาติของผู้นำกลุ่ม
เกิดบูรณาการทางสังคมและวัฒนธรรมที่เป็นระบบซับซ้อนขึ้น หลายชุมชนได้รวมตัวกันเป็นเมือง
จากหลักฐานทางโบราณคดีพบร่องรอยของคูน้ำและการก่อกำแพงดินล้อมรอบเมืองโบราณในทุกภูมิภาค
สภาพทางภูมิศาสตร์ของดินแดนประเทศไทย ซึ่งอยู่ในเส้นทางการคมนาคมทางเรือระหว่างชาวต่างชาติทางทิศตะวันออก
ยังผลให้ชุมชนเกษตรกรรมที่อยู่แถบชายฝั่งทะเลหรือบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำทางภาคกลาง
ซึ่งอยู่ตรงศูนย์กลางการคมนาคมกับภูมิภาคภายใน และมีทางออกสู่ทะเลได้โดยสะดวก
เจริญเติบโตเพราะการขยายตัวทางการค้าทางทะเลกับพ่อค้าอินเดียและจีน
กลายเป็นเมืองท่าการค้าชายฝั่งที่มีประชากรเคลื่อนย้ายมาตั้งถิ่นฐานทำมาหากินมากขึ้นเป็นลำดับ
และสามารถก่อตั้งเป็นแว่นแคว้นในเวลาต่อมา
ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 8-12 ชาวอินเดียและชาวจีนได้เดินทางเข้ามาค้าขายในคาบสุมทรอินโดจีนเพิ่มขึ้น
ผู้คนในดินแดนแถบนี้ได้เรียนรู้อารยธรรมความเจริญจากชาติทั้งสอง โดยเฉพาะอารยธรรมของอินเดียในด้านศาสนา
วัฒนธรรม ประเพณี ภาษา ตลอดจนศิลปวิทยาการต่าง ๆ ได้แผ่กว้างขวาง และเป็นที่ยอมรับของชาวพื้นเมืองมากกว่าอารยธรรมจีน
2. สมัยกรุงสุโขทัย (พ.ศ. 1972-พ.ศ. 1893)
ตลอดระยะเวลา 200
ปี ของอาณาจักรสุโขทัย พระมหากษัตริย์และประชาชนชาวไทยมีความสามารถสูงในการผสมผสานอิทธิพลอันหลากหลายของอารยธรรมอินเดีย
ลังกา มอญ ขอมและจีนให้เข้ากับวัฒนธรรมพื้นถิ่น จนสร้างสรรค์ศิลปวัฒนธรรมที่เป็นลักษณะเฉพาะโดดเด่นของสุโขทัยได้เป็นผลสำเร็จ
โดยเฉพาะการประดิษฐ์ตัวอักษรไทยนับเป็นมรดกอันล้ำค่าที่บรรพบุรุษได้มอบให้ไว้ช่วยเชื่อมโยงให้คนไทยกลุ่มต่าง
ๆ มีความผูกพันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและก่อให้เกิดความภาคภูมิใจในความเป็นไทย
เทคโนโลยีที่ถูกนำมาใช้ในยุคแรก ๆ โดยนับตั้งแต่ยุคกรุงสุโขทัยเป็นต้นมา
ก็เป็นเทคโนโลยีพื้นบ้านง่าย ๆ เกี่ยวกับการก่อสร้างที่อยู่อาศัยและสถานที่ทางด้านศาสนา
การทำอาหาร การกสิกรรม การแพทย์แผนโบราณ และการต่อสู้ ที่พอจะเข้าข่ายเป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์อยู่บ้างก็คือดาราศาสตร์
แต่ดาราศาสตร์ในยุคแรกของไทยเป็นดาราศาสตร์ที่ได้รับอิทธิพลความเชื่อจากศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์มาเป็นดาราศาสตร์ที่สะท้อนความเชื่อความเข้าใจของคนไทย
ที่เกี่ยวกับโลกและจักรวาลในยุคสมัยนั้น ดังหลักฐานที่สำคัญคือพระราชนิพนธ์ของพระเจ้าลิไทเรื่องไตรภูมิพระร่วง
ซึ่งสะท้อนความเชื่อของคนไทยในยุคนั้นว่า จักรวาลประกอบด้วยสามภพ คือ
โลก สวรรค์ และ นรก จึงไม่ใช่ดาราศาสตร์อย่างแท้จริงดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
3. สมัยกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. 1893-พ.ศ. 2310)
ความเป็นปึกแผ่นมั่นคงของอาณาจักรอยุธยา
อาศัยความเหมาะสมหลายประการ อาทิ ความสมบูรณ์ของพื้นที่ เนื่องจากกรุงศรีอยุธยาตั้งอยู่ในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง
มีดินและน้ำอุดมสมบูรณ์ สามารถทำการเกษตรเลี้ยงดูผู้คนได้เป็นจำนวนมาก
นอกจากนี้ยังตั้งอยู่ไม่ไกลจากทะเลมากนักติดต่อค้าขายทางเรือได้สะดวก
ชนชาติไทยเริ่มได้สัมผัสกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยียุคใหม่ของโลกในยุคสมัยกรุงศรีอยุธยา
เมื่อมีชาวตะวันตกเดินทางเข้าสู่ประเทศไทย ชาวตะวันตกเหล่านี้ในระยะแรกส่วนใหญ่เป็นพ่อค้า
เป็นนักแสวงโชค นักผจญภัย นักสอนศาสนา และภายหลังได้มีนักการทูตด้วย
ชนชาติไทยได้สัมผัสกับเทคโนโลยียุคใหม่ก่อนวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ยุคใหม่
ผลผลิตทางเทคโนโลยียุคใหม่ที่คนไทยได้สัมผัสเป็นสิ่งแรก และมีความสำคัญเป็นพิเศษต่อวิถีประวัติศาสตร์ของไทย
คือ ปืน อาวุธปืนที่ถูกนำเข้าสู่ประเทศไทยโดยชาวโปรตุเกสในรัชสมัยของสมเด็จพระชัยราชาธิราช
(พ.ศ. 2077-2089) คือ ปืนสั้นและปืนยาว และต่อมาในภายหลังคือ ปืนใหญ่นั้นมีผลกระทบอันสำคัญยิ่งต่อการทำสงครามระหว่างชนชาติไทยกับชนชาติใกล้เคียงโดยเฉพาะอย่างยิ่งพม่า
เขมร และลาว หลังจากที่คนไทยได้สัมผัสกับเทคโนโลยียุคใหม่ต่อมาอีกหนึ่งร้อยปีเศษ
ชนชาติไทยจึงได้มีโอกาสสัมผัสกับวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ยุคใหม่
ตามหลักฐานที่ปรากฎอยู่ เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ยุคใหม่สำคัญสิ่งแรกที่คนไทยได้มีโอกาสใช้คือ
กล้องโทรทรรศน์ สมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้ทรงใช้กล้องโทรทรรศน์ซึ่ง
พระองค์ได้รับเป็นพระราชบรรณาการจากเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งประเทศฝรั่งเศส
ส่องดูท้องฟ้าและดวงดาวเป็นครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2228 หลังการประดิษฐ์กล้องโทรทรรศน์
โดย กาลิเลโอเป็นเวลา 76 ปี ถึงแม้ว่ากาลิเลโอจะไม่ใช้คนแรกที่ประดิษฐ์กล้องโทรทรรศน์ของเขาขึ้นเองแล้วก็ใช้ส่องดูท้องฟ้าและดวงดาว
เป็นการเปิดโลกใหม่ของดาราศาสตร์อย่างแท้จริง การทรงใช้กล้องโทรทรรศน์โดยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชจึงอาจถือเป็นการเริ่มต้นแห่งวิทยาศาสตร์ยุคใหม่ในประเทศไทยได้เช่นกัน
อย่างไรก็ดี ในยุคสมัยของกรุงศรีอยุธยาคนไทยโดยทั่ว ๆ ไป ก็ยังไม่มีโอกาสสัมผัสกับผลิตผลของวิทยาศาสตร์ยุคใหม่และความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ยุคใหม่
แหล่งความรู้ในสมัยแรก ๆ ของไทยตั้งแต่ยุคสมัยกรุงสุโขทัยเป็นต้นมารวมทั้งกรุงศรีอยุธยาด้วย
มีอยู่เพียงสองแหล่งคือ ในวังและวัด วังเป็นแหล่งการศึกษาของบุคคลในแวดวงของราชวงศ์และข้าราชบริพารผู้ใหญ่ใกล้ชิดกับพระราชวงศ์
ส่วนวัดเป็นแหล่งการศึกษาของสามัญชนทั่วไป ซึ่งก็มีบุตรหลานของข้าราชการมาร่วมเรียนด้วย
โดยมีพระเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ วัดเป็นแหล่งการศึกษาของคนไทยส่วนใหญ่
สิ่งที่ผู้เรียนได้เรียนรู้จึงเป็นความรู้ทางด้านภาษาไทย ทางด้านวรรณคดี
และทางด้านการดำรงชีวิต ทางด้านขนบธรรมเนียมประเพณีและทางด้านการอบรมบ่มนิสัยกล่อมเกลาจิตใจตามหลักพุทธศาสนาเป็นสำคัญ
ส่วนวิทยาศาสตร์จริง ๆ ก็ยังไม่มี ถึงแม้จะมีการสอนเรื่องของธรรมชาติด้วย
แต่ก็เป็นความรู้เก่าแก่ที่เชื่อถือกันซึ่งยังไม่ใช่วิทยาศาสตร์อย่างแท้จริง
4. สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. 2325-ปัจจุบัน)
สังคมไทยจึงเริ่มมีโอกาสได้สัมผัสกับวิทยาศาสตร์ยุคใหม่จากชาวต่างประเทศที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยมากขึ้นทั้งที่เป็นพ่อค้า
นักสอนศาสนา หรือมิชชันนารี และที่เป็นทูตตัวแทนจากประเทศตะวันตก สำหรับคนไทยโดยทั่ว
ๆ ไป วิทยาศาสตร์ยุคใหม่ได้เริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้นตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเป็นต้นมา
เมื่อชาวต่างประเทศเข้ามาอยู่ในประเทศไทยมากขึ้นอีก แต่วิทยาศาสตร์ยุคใหม่ที่คนไทยได้สัมผัสส่วนใหญ่ก็ยังเป็นเทคโนโลยีเกี่ยวกับด้านการดำรงชีวิต
งานศิลปะ และการทหาร เช่น อาวุธในการสู้รบ จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่
3 ได้ทรงเห็นความสำคัญของการนำเอาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ยุคใหม่เข้ามาพัฒนาประเทศ
พระองค์จึงได้ทรงส่งนักเรียนไทยไปศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ที่ต่างประเทศ
ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่าวิทยาศาสตร์ยุคใหม่เริ่มปักหลักมั่นคงขึ้นอีกในประเทศไทย
ตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา เมื่อคนไทยรุ่นแรกที่เดินทางไปศึกษายังต่างประเทศกลับมาเมืองไทย
วิทยาศาสตร์ยุคใหม่ในประเทศไทยก็แพร่หลายเป็นที่ยอมรับมากขึ้นอย่างรวดเร็ว
ในช่วงยุคปลายรัชสมัยของรัชกาลที่ 3 เข้าสู่รัชสมัยของรัชกาลที่ 4
คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ความหมายของวิทยาศาสตร์ยุคใหม่ที่แบ่งออกเป็นวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์กับวิทยาศาสตร์ประยุกต์หรือเทคโนโลยีก็เริ่มปรากฎชัดเจนขึ้น
วิทยาศาสตร์ในสังคมไทยมีความเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นอีกในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
สาเหตุสำคัญเป็นเพราะว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักในความสำคัญและบทบาทของวิทยาศาสตร์ในการพัฒนาประเทศ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการต่อสู้ขจัดความงมงายเชื่อถือเรื่องโชคลางของขลังและเรื่องไสยศาสตร์
ซึ่งทั้งนี้ก็เป็นเพราะ พระองค์ทรงเป็นนักวิทยาศาสตร์ด้วยพระองค์เอง
มีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านวิทยาศาสตร์ ยุคใหม่อย่างดีเยิ่ยม ทรงพระปรีชาสามารถทำนายสุริยุปราคาเต็มดวงที่เกิดขึ้นที่ตำบลหว้ากอ
จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2411 ได้อย่างแม่ยำด้วยพระองค์เอง
เป็นที่ปรากฎและยอมรับในวงการดาราศาสตร์ของโลก อย่างไรก็ดีจนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายสิ้นรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
การศึกษาในประเทศไทยก็คงเป็นรูปแบบเดิม แหล่งการศึกษาสำคัญยังคงเป็นวังกับวัด
ในช่วงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ 5 ประเทศไทยเริ่มก้าวเข้าสู่ยุคการศึกษาอย่างมีระบบ พระองค์ทรงตะหนักในความสำคัญของการศึกษาที่มีต่อการพัฒนาประเทศ
จึงได้ทรงโปรดให้ตั้งโรงเรียนขึ้นในพระบรมมหาราชวังเมื่อปี พ.ศ. 2414
นับเป็นโรงเรียนแห่งแรกของประเทศไทย จากนั้นพระองค์ได้ทรงโปรดให้มีการตั้งโรงเรียนขึ้นอีกหลายแห่งนอกพระบรมมหาราชวัง
ทำให้ประชาชนทั่วไปมีโอกาสได้รับการศึกษาอย่างเป็นระบบ เมื่อการศึกษาอย่างมีระบบในโรงเรียนแพร่หลายมากขึ้น
พระองค์จึงได้ทรงโปรดให้ตั้งกระทรวง ธรรมการขึ้นในปี พ.ศ. 2435 เพื่อรับผิดชอบภาระการจัดการศึกษาภายในประเทศให้เป็นระบบและมีประสิทธิภาพ
กระทรวงธรรมการนี้เองที่เป็นกระทรวงศึกษาธิการในปัจจุบัน ในช่วงรัชกาลที่
5 นี้วิทยาศาสตร์ก็เป็นที่แพร่หลายในสังคมไทย แต่เป็นวิทยาศาสตร์ระดับพื้นฐาน
ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่
6 วิทยาศาสตร์ในระดับสูงจึงเริ่มมีความสำคัญและมีบทบาทมากขึ้น จุดเริ่มต้นสำคัญของการศึกษาและการประยุกต์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในระดับสูงคือ
การสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขึ้นในปี พ.ศ. 2459 นับเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทยในขณะนั้นคณะวิทยาศาสตร์ยังรวมอยู่กับคณะอักษรศาสตร์
คือ คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ การศึกษาวิทยาศาสตร์ในระยะแรก ๆ
นั้น มิได้มุ่งหวังเพื่อความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์อย่างแท้จริง ยังไม่เป็นหรือมุ่งการวิจัยเพื่อค้นหาความรู้ใหม่
ๆ ทางวิทยาศาสตร์ หากเป็นวิชาพื้นฐานเพื่อการศึกษาต่อทางอาชีพคือ ทางการแพทย์
ทางวิศวกรรม และต่อมาก็มีทางการฝึกหัดครู การศึกษาวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์จริง
ๆ เริ่มต้นขึ้นในปี พ.ศ. 2477 เมื่อคณะวิทยาศาสตร์ (ซึ่งก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์
การแยกคณะอักษรศาสตร์และคณะวิทยาศาสตร์ออกจากกันเป็นสองคณะเกิดขึ้นในปี
พ.ศ. 2491) เปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรครูมัธยมวิทยาศาสตร์ และในปี
พ.ศ. 2478 ก็มีบัณฑิตวิทยาศาสตร์ของไทยรุ่นแรก
ตั้งแต่นั้นมาการศึกษาและการวิจัยวิทยาศาสตร์ทั้งวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์และวิทยาศาสตร์ประยุกต์ในประเทศไทยก็เจริญรุดหน้าสืบมาอย่างรวดเร็ว
มีการตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นใหม่หลายแห่งทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค
เมื่อมีการประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่
1 ใน พ.ศ. 2504 ได้มีการลงทุนทางด้านอุตสาหกรรมอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้
ยังมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เช่น การสร้างทางหลวงเป็นเครือข่ายเชื่อมโยงจังหวัดต่าง
ๆ เข้าด้วยกัน มีการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่เพื่อผลิตไฟฟ้าพลังน้ำและการชลประทาน
มีการขยายท่าเรือกรุงเทพเพื่อให้การขนส่งสินค้าเป็นไปโดยสะดวก ในด้านการพัฒนากำลังคน
ได้มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยในส่วนภูมิภาค เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนในท้องถิ่นได้รับการศึกษาสูงขึ้นโดยสะดวก
ภายหลังแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 1 ได้มีการใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับอื่น
ๆ ต่อเนื่องมาโดยตลอด (แต่ละแผนมีกำหนดระยะเวลา 5 ปี) ผลจากการดำเนินงานตามแผนพัฒนาฯ
ฉบับต่าง ๆ ทำให้ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงจากเดิมเป็นอันมาก ที่เห็นได้ชัดคือ
ความก้าวหน้าทางด้านอุตสาหกรรม ซึ่งปรากฎว่าในปัจจุบันประเทศไทยสามารถผลิตสินค้าอุตสาหกรรมได้หลายชนิด
ทั้งเพื่อการใช้ภายในประเทศและเพื่อการส่งออกจำหน่ายต่างประเทศ
ในปี พ.ศ. 2522 เป็นปีที่มีความสำคัญยิ่งสำหรับวงการวิทยาศาสตร์ไทยยุคใหม่อีก
เพราะมีการจัดตั้งกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและการพลังงานขึ้น
เพื่อรับผิดชอบงานระดับประเทศในการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาใช้เพื่อการพัฒนาประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ
ปัจจุบันประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งในโลกที่ได้สัมผัส
ได้รับรู้ ได้ใช้ประโยชน์ และได้เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ยุคใหม่ ทั้งวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์และเทคโนโลยีของโลกอย่างเต็มที่
ทุก ๆ ด้าน เช่น ด้านการสื่อสาร การคมนาคม การศึกษา การแพทย์ การพักผ่อนหย่อนใจ
การบันเทิง และอื่น ๆ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้สร้างสรรค์ความเจริญให้กับประเทศไทย
ทำให้คนไทยมีสภาพความเป็นอยู่ดีขึ้น สะดวกสบายขึ้น ปลอดภัยขึ้น สุขภาพดีขึ้น
มีความรู้ความเข้าใจธรรมชาติของตนเองและสิ่งแวดล้อมทั้งใกล้และไกลถึงระดับเรื่องของจักรวาลมากขึ้นทำให้
ประเทศไทยเป็นประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างได้ผลดีกว่าหลายประเทศทั่วโลก(ชำนาญ
เชาวกีรติพงศ์. 2534 :14-16 และนัฏฐพงษ์ เจริญพิทย์. 2539 : 68-86)
|